รู้ก่อนให้นมแม่

กระเพาะอาหารของลูกแรกเกิด ในวันแรกมีขนาดใหญ่เท่าไร?

08 ธันวาคม 2017
แชร์ให้เพื่อน

กระเพาะอาหารของลูกแรกเกิด ในวันแรกมีขนาดใหญ่เท่าไร?

[seed_social]
[seed_social]

กระเพาะอาหารของลูกแรกเกิด ในวันแรกมีขนาดใหญ่เท่าไร?

 

ใครที่ไม่เคยอุ้มหรือเลี้ยงเด็กทารกเล็กๆมาก่อน พอได้อุ้มกอดลูกครั้งแรกรู้สึกอย่างไรกันบ้างคะ?

ความรู้สึกของแต่ละคนคงจะแตกต่างกันไป แต่ที่คล้ายคลึงกันก็น่าจะเป็น ความรู้สึกอยากทนุถนอมทารกที่เปราะบางคนนี้ ที่เราอุ้มอยู่ในท้องมาเก้าเดือน อยากเห็นหน้าตลอดเวลา ดูสิปากนิดจมูกหน่อย ดูน่ารักไปหมดทุกส่วน เราจะต้องดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเราจะทำได้ดีเมื่อเราเข้าใจเขาค่ะ

อวัยวะทุกส่วนของทารกแรกเกิด ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ลูกไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน เราอย่าเอาความเคยชินของเรามาตัดสินวิธีการ กิน การนอน การร้องไห้ และ การขับถ่าย ของเขาค่ะ เขามีลักษณะเฉพาะตัวที่เราต้องเรียนรู้

เริ่มต้นจากการกินก่อนเลยดีไหมคะ

เราจะเคยชินกับการกินอาหารเป็นมื้อ ใช่ไหมคะ เพราะกระเพาะของเราจุได้มาก กินได้หลากหลาย แล้วลูกแรกเกิดล่ะเขาจะกินได้ทีละมากเท่าไรกัน?

กลับไปดูตอนที่เขายังอยู่ในท้องแม่ก่อนดีกว่าค่ะว่าเขากลืนกินได้มากแค่ไหน

ธรรมชาติของทารกที่ยังอยู่ในท้องแม่ จะมีการกลืนน้ำคร่ำเข้าท้องทีละอึก แต่ละอึกห่างกันสักระยะหนึ่ง นั่นคือปริมาณน้ำที่กระเพาะลูกเคยรองรับได้ในแต่ละครั้ง นั่นคือ กลืนทีละอึกสองอึกเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรเลย

ดังนั้น ในวันแรกหลังคลอดก็เช่นเดียวกันค่ะ กระเพาะของลูกยังอยู่ในระยะปรับตัวเพิ่งจะออกมาจากท้องแม่ จะไม่ชินกับปริมาณนมจำนวนมากๆ

ธรรมชาติก็ช่างดีเหลือหลาย ช่วยทำให้น้ำนมแม่ในวันแรกผลิตได้ไม่มากเช่นเดียวกัน ช่างพอเหมาะพอดีกับความจุกระเพาะของลูก ลูกก็ดูดกลืนน้ำนมในวันแรกที่เรียกว่า “โคลอสตรัม” เข้าไปทีละเล็กละน้อย ดูดกันบ่อยๆตลอดทั้งวัน ลูกก็อบอุ่นบนอกแม่ อาหารก็ได้รับในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม คือปริมาณน้อยๆแต่บ่อยๆ และมีสารภูมิคุ้มกันเต็มเปี่ยม

เคยสงสัยไหมคะ ว่าเริ่มแรกที่ลูกอุแว้ออกมาจากท้องแม่ กระเพาะอาหารของลูกจะมีความจุมากสักเท่าไรกัน

มีการศึกษาขนาดของกระเพาะทารกแรกเกิด พบว่า ในวันแรกมีความจุเพียง 5-7 มิลลิลิตร หรือจะเทียบกับขนาดของผักผลไม้ที่เราคุ้นเคย คือขนาดประมาณ “ มะเขือเทศสีดา” สีแดงที่เราใส่ในส้มตำเท่านั้นเองค่ะ นอกจากขนาดเล็กแล้ว ยังไม่ค่อยยอมยืดหยุ่นดีสักเท่าไร หมายความว่า ถ้าใส่นมเข้าไปเกิน 5-7 มิลลิลิตร ทารกจะแหวะนมออกมา เพราะ กระเพาะจะยังไม่ยืดออกเพื่อรองรับปริมาณนมที่มากกว่าความจุ

ปริมาณน้ำนมแม่จะผลิตมากขึ้นตามการดูดของลูก และกระเพาะอาหารของลูกก็ปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ในวันที่ 3 หลังคลอด กระเพาะอาหารของลูกมีความจุ 22-27 ซีซี หรือประมาณ 1 ออนซ์ ( เทียบขนาดได้เท่ากับกำปั้นของทารกเอง หรือ มะเขือเปราะ)

เมื่อลูกโตขึ้นกระเพาะอาหารของลูกก็ค่อยๆโตขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย เพื่อปรับให้รับน้ำนมแม่ที่ผลิตเพิ่มมากขึ้น จากวันแรกลูกกินนมแม่เฉลี่ย 7 ซีซีต่อมื้อ เพิ่มเป็น 14 ซีซี ในวันที่ 2 และเป็น 38 ซีซี วันที่ 3 จนถึง 65ซีซีต่อมื้อในวันที่ 7 หลังคลอด ขนาดกระเพาะอาหารของลูกในช่วงอายุ 10 วัน จะประมาณเท่ากับขนาดไข่ไก่ หรือ มะเขือเทศท้อ

คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายไม่ต้องห่วงเรื่อง น้ำนมแม่น้อย ในระยะแรกๆนะคะ จำนวนที่น้อยนั้นพอเหมาะกับกระเพาะของลูกแล้วล่ะค่ะ กว่าจะกินนมมากเป็นออนซ์สองออนซ์ได้ก็เข้าไปตั้งวันที่ 10 หลังคลอดโน่น

ถ้าใครยังไม่มั่นใจก็ขอให้อ่านงานวิจัยนี้ค่ะ เขาพบว่า ทารกแรกเกิดปกติที่สุขภาพดี ที่กินนมแม่อย่างเดียวในวันแรกนั้น ได้รับน้ำนมเพียง 15ถึง 26 กรัมต่อวัน เท่านั้นเองค่ะ ไม่ได้มากมายอะไรเลย แต่เพียงพอสำหรับลูกในวันแรกแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การที่ลูกได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ ได้ดูดนมแม่ได้ตามที่ต้องการ ไม่ต้องกำหนดเวลา

นั่นจะกระตุ้นกลไกธรรมชาติในการสร้างน้ำนมแม่ และทำให้มีน้ำนมผลิตออกมาได้เพียงพอในวันต่อๆมาค่ะ/ แอดมินหมอติ๋ม พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

              

งานวิจัยของ Santoro W Jr, Martinez FE, Ricco RG, Jorge SM. เรื่อง Colostrum ingested during the first day of life by exclusively breastfed healthy newborn infants. J Pediatr. 2010 Jan;156(1):29-32.
เพื่อศึกษาจำนวนโคลอสตรัมที่ทารกแรกเกิดที่กินนมแม่อย่างเดียวได้รับเข้าไปใน 2 4 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยศึกษาในทารกแรกเกิดปกติสุขภาพดี 90 ราย จำนวนมื้อที่ดูดนมแม่ 307 มื้อ ค่าเฉลี่ย 3.4±1 มื้อต่อช่วงเวลา 8 ชั่วโมง พบว่าน้ำหนักขึ้นต่อมื้อ 1.5±1.1 กรัม จำนวนนมที่ได้รับต่อวันประมาณ 15±11 กรัม ซึ่งปริมาณนี้ไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะ 24 ชั่วโมงหลังคลอด และ ปริมาณไม่เกี่ยวกับระยะเวลาที่ให้นมแม่ หรือแฟคเตอร์ก่อนคลอดหลังคลอดใดๆ

(Santoro W Jr, Martinez FE, Ricco RG, Jorge SM. Colostrum ingested during the first day of life by exclusively breastfed healthy newborn infants. J Pediatr. 2010 Jan;156(1):29-32.

Abstract
Objective: To determine the mass of colostrum ingested by exclusively breastfed newborn infants during the first 24 hours of extrauterine life.
STUDY DESIGN: Milk ingested during the first 24 hours of life by 90 healthy newborn infants was evaluated by use of a scale with high sensitivity. The masses were measured during 8-hour periods. Associations of the mass measured with prenatal and postnatal variables were tested.
RESULTS: The mass of colostrum ingested was evaluated in 307 feedings, with 3.4+/-1 feedings recorded per 8-hour period of observation. Mean gain per feeding was 1.5+/-1.1 g. The daily mass of milk ingested by newborn infants was estimated at 15+/-11 g. This volume did not show a tendency to increase during the first 24 postnatal hours, nor was it related to perinatal or postnatal factors or to breastfeeding time.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ลงทุนให้ลูกด้วยนมแม่
ลานนมกว้าง / แคบ ลูกจะดูดได้ไหม
หัวนมสั้น บอด ใหญ่ ยาว จะให้นมลูกได้หรือไม่ ?