การผลักดันนโยบายร่าง พ.ร.บ. Milk Code
(Advocacy for Milk Code Act)
ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล
ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ประเทศไทยรับข้อมติขององค์การอนามัยโลก เรื่อง Code of Conduct for Breast Milk Substitutes (BMS) ปี 2524 มาเป็นแนวทางถือปฏิบัติแบบสมัครใจตั้งแต่ ปี 2527
และต่อมามีการปรับปรุง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติ
โดยอุตสาหกรรมนมผสมได้ทำการตลาดละเมิดหลักเกณฑ์ของ มา Code อย่างต่อเนื่องตลอดมาเนื่องจากไม่มีบทลงโทษระบุไว้ใน Code เพราะมิได้เป็นกฎหมายบังคับใช้ เช่น การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ การใช้หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเป็นผู้นำเสนอสินค้า แจกตัวอย่างนมผสมให้แม่, ญาติ ของหญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด เป็นต้น
เมื่อสื่อมวลชนเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น การมี Internet และ Social media ต่างๆ ธุรกิจนมผสมก็ใช้สื่อเหล่านี้ในการทำการตลาดที่ละเมิด Code รวมทั้งการจัด Event marketing ไปทั่วประเทศ เป็นต้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมอนามัย, ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, UNICEF, WHO และเครือข่ายได้ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเชิงพัฒนาองค์ความรู้พัฒนาศักยภาพบุคลากร, การสื่อสาร ผ่านสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมมุมนมแม่ในโรงงาน, ที่ทำงาน รวมทั้งตำบล, อำเภอนมแม่ ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน จาก 12.5 % สูงขึ้นเป็น 20 % ในรอบปีที่ผ่านมา
- เรื่องผลักดัน Code ให้เป็นกฎหมายจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข, รัฐบาล และรัฐสภาฯ การบรรจุเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสมัย ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน จึงเกิดขึ้น ซึ่งช่วงนั้นซึ่ง ผมเป็นที่ปรึกษาของท่าน ได้มอบหมายให้ กรมอนามัยไปยกร่าง พ.ร.บ. Milk Code ขึ้น และทำประชาพิจารณ์เมื่อต้นปี 2558 แต่ก็ไม่สามารถผลักดันเข้าสู่ ครม.ได้ทันสมัย รัฐมนตรี รัชตะ รัชตะนาวิน แต่โชคดีที่ รมต.สธ.ศจ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมต.คนต่อมา ได้สานต่อจนเข้าสู่ ครม., สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2559 และผ่าน สนช. เมื่อเดือนเมษายน 2560 ท่ามกลางการคัดค้านต่อต้านจากธุรกิจนมผสม, วิชาชีพบางสาขา โดยการออกมาแถลงข่าวไม่เห็นด้วย แต่โชคดีที่เรามีเครือข่ายนมแม่, สื่อมวลชน, แม่อาสา, ดารา, พิธีกร ที่ออกมาสนับสนุนผ่านสื่อมวลชน และสื่อสังคมอย่างมากมายกว้างขวาง รวมทั้งการยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติของทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้ใช้เวลาพิจารณาอยู่หลายเดือน (มากกว่าที่ควรจะเป็น) เพราะมีบางคนที่นั่งในคณะกรรมาธิการพยายามตีรวน เตะถ่วง ให้พิจารณาของ กมธ. ไปได้ช้า แต่สุดท้ายก็
สามารถผ่านเข้า สนช. โดยมีการปรับแก้ไขบางประเด็นที่ฝ่ายธุรกิจนมผสม และนักวิชาการบางคนกังวล เช่น นิยาม, ผลิตภัณฑ์, อายุของเด็กเล็ก เป็นต้น
ประเทศไทยล่าช้าในการมีเครื่องมือทางกฎหมายฉบับนี้ในการปกป้องคุ้มครองให้เด็กไทยได้กินนมแม่ล่าช้ามากว่า 30 ปี ผมจึงเห็นว่า กรมอนามัยจะได้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
———————-