พัฒนาการเด็ก

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 0 – 3 ปี

21 มิถุนายน 2017
แชร์ให้เพื่อน

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 0 – 3 ปี

[seed_social]
[seed_social]

 

โดยอาจารย์ประภาศรี นันท์นฤมิต

จากหนังสือสายใยรักแห่งครอบครัว

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 0-3 ปี กระบวนการพัฒนาการของเด็ก มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพัฒนาการของสมอง พบว่าสมองจะมีการพัฒนาอย่างมากตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยมีการแบ่งตัวของเซลล์ประสาท และมีการส่งปลายประสาทเชื่อมโยงระหว่างเซลล์เหล่านั้น เมื่อแรกเกิด เด็กจะมีพัฒนาการในระดับที่สามารถรับรู้ เรียนรู้ และดำรงชีวิตอยู่โดยมีการช่วยเหลือจากผู้เลี้ยงดู ในช่วงเวลานั้นสมองของเด็กจะต้องพัฒนาต่อไปโดยมีสิ่งสนับสนุนคือได้รับอาหารที่เหมาะสม เช่นได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ร่วมกับการเลี้ยงดูในบรรยากาศที่มีการส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็ก ช่วงเวลาที่สมองมีการพัฒนาเร็วมากคือช่วง 3 ปีแรกของชีวิต หลังจากนั้นเซลล์สมองจะมีการพัฒนาลดลงหลังเด็กอายุ 5 ปี แต่จะมีการพัฒนาของการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองต่อไปอีก ทั้งนี้สมองของเด็กจะมีขนาดเท่ากับสมองของผู้ใหญ่เมื่อเด็กอายุประมาณ 12-15 ปี จึงเป็นความจำเป็นที่ควรส่งเสริมพัฒนาการโดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี

 

แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย

มีดังต่อไปนี้

 

ทารกแรกเกิด

หมั่นให้ความสนใจเมื่อเด็กร้องและอุ้มเด็กไว้ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นและเชื่อมั่น

มองสบตาเด็กเมื่อเด็กอยู่ในระยะตื่นสงบ พยายามยิ้ม ทำสีหน้า แลบลิ้น ทำปากจู๋ พูดคุย ร้องเพลงระหว่างให้ลูกดูดนมแม่ เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ แสดงความดีใจและชมเชยเมื่อเด็กมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นต่างๆ เช่นการเลียนแบบ ทำสีหน้า

วาดรูปหน้าคนง่ายๆ หรือ นำตุ๊กตาสัตว์ มาให้ดู โดยถือห่างจากตาเด็ก 8-12 นิ้ว

ต้องรอเวลาที่เหมาะสมในการเล่น หรือ กระตุ้นเด็ก

 

ทารกแรกเกิดถึง 4 สัปดาห์

อุ้มเด็กหันหน้าเข้าหาแม่ (face to face) ตามองตา อุ้มท่าพาดบ่าโดยมีคนมาคุยกับเด็ก เวลาร้องอุ้มทันที ลูบไล้สัมผัส โอบอุ้มเด็กบ่อยๆ ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะติดมือ หาของสีสดใส ให้มองดู พูดบอกเวลาทำอะไรกับตัวเขา ใส่นิ้วในอุ้งมือเด็กให้เด็กกำ

 

เด็กวัย 4-8 สัปดาห์

อุ้มเด็กบ่อยๆ พูดคุยลูบไล้ตัวเด็กบ่อยๆ จับเด็กนั่งหลังพิงอก อุ้มให้ดูสิ่งต่างๆรอบตัว ให้เด็กนอนคว่ำบ้าง หงายบ้าง ส่งเสียงเรียกเด็ก หรือ เขย่าของเขย่าให้เด็กมองหาที่มาของเสียง แขวน mobile ให้เด็กหัดคว้าจับ ร้องเพลง พูดคุย บอกกับเด็กเวลาจะทำอะไรกับเขา

 

เด็ก 8-12 สัปดาห์

ให้เด็กนอนคว่ำให้หัดยกศีรษะ ให้เด็กคว้าจับสิ่งของ และให้เล่นของเขย่าที่มีเสียงดัง พูดคุยเล่น หัวเราะทำท่าทางต่างๆให้เด็กเล่นด้วย ให้เด็กเล่นมือ ดูดนิ้ว รับรู้ความต้องการเมื่อเด็กส่งสัญญาณบอก เช่น การร้องเพื่อให้อุ้ม ร้องเมื่อหิว เปียกแฉะ บอกให้เด็กรับรู้ว่าคนรอบข้างเขาเป็นใคร ขยับแขน ขา นวดสัมผัสให้เด็กบ่อยๆ

 

เด็กวัย 12-16 สัปดาห์

ทำเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ และท่านอนหงายให้หัดตะแคงตัว ท่านอนคว่ำหัดยกหัวและอกให้พ้นพื้นโดยเอาแขนยัน ให้มองลูกปัดเล็กๆ ที่อยู่ตรงหน้า และพยายามเอื้อมจับ หัดเอามือทั้ง 2 ข้างมาประสานกัน พูดคุย ร้องเพลงเล่น ส่งเสียงโต้ตอบกับเด็ก

 

เด็กวัย 16 -20 สัปดาห์

ทำเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้และชี้ชวนให้มองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหว ให้เด็กจับ mobile ให้เคลื่อนไหวไปมา ให้เด็กลากของเล็กๆที่ผูกเชือกไว้เข้าหาตัว ให้เด็กหัดพลิกคว่ำหรือหงาย ร้องเพลง พูดคุย ทักทายเด็กด้วยชื่อของเขา หัดให้เด็กหยิบจับสิ่งของขนาดต่างๆ กัน

 

เด็กวัย 20-28 สัปดาห์

พูดคุยกับเด็กบ่อยๆให้เด็กเล่นกับกระจก ให้เด็กมองตามของตก เล่นหาของที่มีผ้าคลุมไว้บางส่วน ให้ถือของเล็กๆไว้ในมือ ข้างละ 1ชิ้น หัดให้เปลี่ยนมือถือของ หัดให้เด็กพลิกคว่ำ หงายจับนั่งพิงเบาะ ให้นั่งโดยใช้มือยัน และหัดคืบไปหาสิ่งของที่วางล่อไว้ข้างหน้า

 

เด็กวัย 28-36 สัปดาห์

หัดให้เด็กนั่งเอง หัดคลานไปหาสิ่งของต่างๆ เล่นจ๊ะเอ๋ ตบแผะ หัดให้หยิบจับสิ่งของเล็กๆด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ แล้วเอาเข้าปาก เล่นปาของลงพื้นให้เกิดเสียงดัง หัดให้เลียนเสียงสูง ต่ำ ตามที่ผู้ใหญ่สอน เรียกชื่อเด็กบ่อยๆเพื่อให้รู้จักชื่อตนเอง สอนให้รู้จัก พ่อ แม่ การพูดให้เด็กฟังต้องพูดช้าๆ ชัดเจน และบ่อยๆ โดยกระตุ้นให้เด็กมองปาก

 

เด็กวัย 36 -44 สัปดาห์

สอนให้หยิบจับของด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้บ่อยๆจนคล่อง ให้เด็กหัดดื่มน้ำจากแก้ว หัดหยิบอาหารเข้าปาก รู้จักอวัยวะต่างๆบนใบหน้า โดยทำท่าทางให้เด็กเลียนแบบ เช่น ทำปากจู๋ ทำตาหยี หัดให้ปล่อยของเมื่อขอและฝึกทำบ่อยๆ ให้โอกาสหยิบจับดินสอขีดเขียน หัดให้เดินเกาะเฟอร์นิเจอร์ และจูงเดิน

 

เด็กวัย 44-52 สัปดาห์

หัดตั้งไข่ ยืนทรงตัวและเดินเองหัดหยิบจับสิ่งของ และเรื่องการช่วยตนเอง หัดกินอาหารด้วยตนเอง และกินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ หัดเรื่องการช่วยตนเองในเรื่องการแปรงฟัน ถอดเสื้อผ้า รู้จักคนใน ครอบครัว

 

เด็กวัย 1ปี-1½ ปี

พาเดินเล่นบ่อยๆ หัดพูดเป็นคำๆจากสิ่งต่างๆแวดล้อมตัวเด็ก สอนให้ร้องเพลง เต้นตามจังหวะ เลียนแบบผู้อื่น หัดกินอาหารด้วยช้อน ดื่มน้ำจากแก้วน้ำ หัดถอดกางเกง และหัดใส่กางเกง สอนให้บอกเวลาอุจจาระ ปัสสาวะ สอนให้รู้จักอวัยวะในร่างกาย สอนให้ดูรูปจากหนังสือ สอนให้เด็กขีดเขียนด้วยดินสอ

 

เด็กวัย 1½ – 2 ปี

ให้เล่นเตะบอล โยนบอล ให้หัดดูหนังสือและพลิกทีละหน้า ให้เข้าห้องน้ำ ถอดกางเกงเวลาอุจจาระ ปัสสาวะ ให้กินอาหารด้วยตนเองพูดคุยซักถามให้เด็กตอบ สอนให้รู้จักสีแล จำนวน ให้หัดขีดเขียนรูปกากะบาด และวงกลม ให้ต่อแท่งไม้

 

เด็กวัย 2-3 ปี

ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้ง การวิ่งเล่น การเข้ากลุ่มกับเด็กอื่น ฝึกหัดการขีดเขียน ฝึกหัดการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน การฝึกหัดขับถ่าย ฝึกหัดให้ควบคุมตนเองเวลาโกรธ โมโห สอนให้รักการอ่าน โดยมีคนทำเป็นตัวอย่าง มีหนังสือที่เหมาะสม และสอนให้รู้จักการแบ่งปัน

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
ฟันเด็กจะขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่
พัฒนาการในการกินอาหาร....อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของอาหารตามวัย
ทีวี อันตรายใกล้ลูกน้อย ตอนที่ 2