คำกล่าวนี้ได้มาจาก The Report on the WHO Collaborative Study on Breastfeeding, Geneva, 1981 ที่เขากล่าวเช่นนี้ เพราะ ในการออกผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ชนิดใหม่ๆแต่ละชนิด ไม่มีการทดลองกลุ่มควบคุมเทียบกับกลุ่มที่ให้กินนมผงสูตรใหม่ๆ นั้น อย่างเก่งก็อาจจะทดลองในกลุ่มทารกไม่กี่ร้อยคน และไม่ได้ติดตามว่า จะมีผลในระยะยาวเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง
ดังนั้น เมื่อเอาออกมาขายในตลาด เด็กทารกทุกคนที่กินนมใหม่นั้นคือตัวอย่างให้เขาทดลองโดยไม่รู้ตัว ทางผู้ผลิตเขาอาจจะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลิตสิ่งที่ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงมีอะไรอีกหลายอย่างที่เขาไม่รู้หรือไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิด
การปรับหรือเติมสารอย่างหนึ่งเข้าไปในส่วนผสมของนมผง หรือเอาส่วนประกอบใดออกจากสูตร อาจจะมีผลกระทบต่อการดูดซึมสารอื่นๆ เมื่อทารกกินนมผงสูตรที่ปรับเปลี่ยนนี้เข้าไปเป็นเวลานานๆ ในแต่ละสูตรของนมผงที่เพิ่มสารต่างๆ เขาได้มีการทดลองในทารกกลุ่มใดๆบ้างหรือไม่ ว่าเมื่อเติมสารนั้นๆไม่กระทบกับสารอื่นๆ ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ในอดีตที่อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้ เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว
ในปี 1978 ผู้ผลิตนมผงถั่วเหลืองรายหนึ่ง ปรับสูตรนมใหม่โดย ไม่เติมเกลือเข้าไป ผลคือนมผงนั้นมีปริมาณคลอไรด์น้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต¬ของ ทารก และในกลางปี 1979 พบทารกเป็นโรคคลอไรด์ต่ำจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้นมที่มีคลอไรด์ต่ำนั้นเป็นเวลานาน ดังที่มีรายงาน ในปี 1979 มีรายงานทารก 3 รายที่มีอาการ Barter-like syndrome ในทารกที่อายุ 10 เดือนหรือน้อยกว่า ทารกมีอาการ hypochloremic and hypokalemic มีอาการเลือดเป็นด่าง alkalosis และ มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ทั้งสามรายกินนมผงถั่วเหลืองยี่ห้อเดียวกัน
สารทุกตัวที่บริษัทนมบอกว่าเขาเติมลงในนมผง แสดงว่าในนมผงก่อนหน้านั้นไม่มีสารตัวนี้ หรือมีก็ในปริมาณน้อย เขาจึงต้องเติม (แต่ในน้ำนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนอยู่แล้ว รวมทั้ง เซลล์มีชีวิต เอนไซม์ ไซโตไคน์ สารช่วยการเจริญเติบโต ฮอร์โมน สเต็มเซลล์ EGF PDGF Leptin ฯลฯ นมผงจะเติมสารเข้าไปอีกสักกี่ชนิดก็ไม่มีทางใกล้เคียงนมแม่เลย มีสารในน้ำนมแม่อีกมากมายที่นมผงยังทำเทียมเลียนแบบไม่ได้ เขาก็เลยไม่โฆษณา จะโฆษณาก็เฉพาะที่จะทำผลประโยชน์ให้เขาเท่านั้น)
เวลาเราเห็นนมผงที่เติมโน่นเติมนี่เข้าไป จะเอามาให้ทารกของเรากินเป็นอาหารประจำวันเลยนะคะ เรารู้ได้อย่างไร ว่า สารต่างๆที่เพิ่มเข้าไปนั้น :
-จะไม่เข้าไปรบกวนการดูดซึมของสารอาหารอื่นๆ จะมีการขัดขวางทำให้สารอาหารบางตัวถูกดูดซึมน้อยหรือมากเกินไปไหม จะทำให้ระบบการย่อยและดูดซึมของทารกรวนเรกันไปทั้งหมดหรือไม่
– จะเข้าไปออกฤทธิ์ เหมือนสารจริงที่อยู่ในน้ำนมแม่หรือไม่
– เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ หรือเป็นสารที่สกัดจากสัตว์อื่นเช่นวัว จะไม่ก่อให้เกิดปฏิกริยาภูมิแพ้ในเด็กที่มีแนวโน้มแพ้ง่ายอยู่แล้ว
มีการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มเด็กที่กินนมผงที่เติมสารใหม่ๆ กับเด็กที่กินนมผงที่ไม่เติมหรือไม่ ว่า การเกิดภูมิแพ้แตกต่างกันไหม การเกิดท้องเสีย หรืออาการระบบทางเดินอาหาร เกิดผื่นแพ้ลมพิษ ต่างกันไหม ถ้ายังไม่มีการศึกษาเรื่องความปลอดภัย หรือ ทาง FDA ไม่ยอมรับการเติมสารนั้นๆ ก็ต้องบอกความจริงกับสาธารณชนเพื่อให้พ่อแม่รับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะมี อยู่ และให้สังเกตอาการของลูกๆที่กินนมผงที่เติมสารนั้นสารนี้กันเอง
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เมื่อใดก็ตามที่ได้เห็นโฆษณานมผงที่เติมสารตัวนั้นตัวนี้ ให้พยายามหาอ่านดูตัวหนังสือข้างกระป๋องที่เขาเขียนไว้ว่าค่ะว่า เป็นสารชนิดเดียวกับที่มีในน้ำนมแม่หรือไม่ เพราะ จริงๆแล้วเป็น สารชื่อเดียวกัน แต่มาจากคนละแหล่ง!
ในโฆษณาไม่ได้บอกว่าสารนั้นมาจากไหน คนดูเชื่อเป็นตุเป็นตะไปเองว่า สารนั้นเป็นตัวเดียวกับที่ผลิตออกมาจากเต้านมแม่ เขาจะไปเอามาจากน้ำนมแม่ได้อย่างไรคะ น้ำนมแม่มีค่ายิ่งกว่าทอง เขาจะไปเอาน้ำนมแม่มากมายมาสกัดขนาดทำเป็นอุตสาหกรรมได้หรือคะ? ถึงจะได้ก็เป็นต้นทุนที่มหาศาลไม่คุ้มกับการลงทุน
สารเหล่านั้นจึงเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น น้ำมัน DHA ที่นำมาเติมในนมผง ผลิตจากสาหร่าย(DHA Single Cell Oil – DHASCO) สกัดในห้องทดลองโดยใช้สาร Hexane ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีพิษ DHASCOอยู่บน ไทรกลีเซอร์ไรด์ที่ไม่เหมือนกับ DHA ในน้ำนมแม่ ในน้ำนมแม่ DHA จะเป็นโมเลกุลเดี่ยว แต่DHA สังเคราะห์ พบทั้งแบบโมเลกุลเดี่ยว และ คู่บนสายไตรกลีเซอร์ไรด์ นอกจากนี้ DHSCO มี DHA เป็นส่วนประกอบแค่ 40-50% เท่านั้น ส่วนประกอบที่เหลือหลายตัวเป็นสารใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในอาหารทารกมาก่อน
อาหารทดแทนนมแม่ไม่ใช่สินค้าโดยทั่วไป แต่เป็นอาหารที่จะต้องเข้าสู่ร่างกายทารกที่ยังแบบบาง การตลาดของสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อทารกเล็กๆ จึงไม่ควรจะเหมือนกับการตลาดของสินค้าทั่วไป
ควรจะมีการควบคุมการส่งเสริมการตลาด เพื่อมิให้มีการโฆษณาโดยแอบอ้างว่า เทียบเคียง หรือใกล้เคียงกับนมแม่ เพราะได้เติมสารนั้นๆๆที่มีอยู่ในนมแม่ลงไปแล้ว ซึ่งจะมีส่วนโน้มน้าวให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้วหันไปใช้นมผงมากขึ้น
นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรจะมี “กฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทดแทนนมแม่” หรือเรียกสั้นๆว่า “ code นม “ ในประเทศไทยเสียทีค่ะ
References
1. http://cornucopia.org/DHA/DHA_QuestionsAnswers.pdf
2. Hypochloremic alkalosis in infants associated with soy protein formula Linshaw, Michael A.; Harrison, Harold L.; Gruskin, Alan B.; Prebis, James; Harris, JoAnn; Stein, Robert Jayaram, M.R.; Preston, David; DiLiberti, John; Baluarte, H. Jorge; Elzouki, Aziz; Carroll, Nancy The Journal of Pediatrics, Volume 96, issue 4 (April, 1980), p. 635-640. ISSN: 0022-3476 DOI: 10.1016/S0022-3476(80)80728-1
พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล