ของดีที่มีเฉพาะนมแม่เท่านั้น ตอนที่ 4
โดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
ในน้ำนมแม่จะมีสารที่ช่วยการเจริญเติบโต (Growth Factors) หลายชนิด นักวิจัยในช่วงปี 1970-1980 พบว่าน้ำนมแม่เป็นตัวช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เป็นอย่างดี ทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง Widdowson et al พบว่าทางเดินอาหารของลูกหมูแรกเกิดที่ได้รับน้ำนมระยะแรก (colostrum) จะมีน้ำหนักและความยาวมากขึ้น และยังพบว่ามีการสังเคราะห์โปรตีนมากขึ้นใน ตับ ไต ม้าม และกล้ามเนื้อ
- Growth factor ที่สำคัญคือ Epidermal Growth Factor (EGF) เพราะ เป็นตัวที่ออกฤทธิ์ทางชีววิทยาแรงที่สุด
- EGF เป็น polypeptide เล็กๆที่พบได้ในน้ำนมของสัตว์หลายชนิด และมีลักษณะเฉพาะตัวในน้ำนมแม่
EGF กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุ (epidermal and epithelial tissues) และมีผลอย่างสำคัญในทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด ได้แก่ เพิ่มการเจริญเติบโต และการพัฒนาเซลล์บุผิวปอด กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ และการสังเคราะห์ DNA ในทางเดินอาหาร และช่วยเร่งการหายของแผลบนผิวของเยื่อบุกระจกตา EGF มีผลกระตุ้นเซลล์บุผิว duodenum ให้พัฒนาขึ้นเต็มที่ และเพิ่มการทำงานของ Lactase และ การนำเข้าแคลเซี่ยมในหนูทดลองแรกเกิด
EGF ในน้ำนมอาจจะมาจาก เลือดแม่ หรือผลิตขึ้นที่เต้านม เมื่อกินทางปาก จะไม่ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร จึงสามารถไปออกฤทธิ์ในลำไส้ได้ นอกจากนี้ EGF ยังมีผลช่วยสมานแผลที่ลำไส้ได้ด้วย เช่น เมื่อมีเชื้อไวรัสมาทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร
EGF ในน้ำนมแม่ช่วยให้แผลที่ลำไส้หายเร็วขึ้น :
การวัดปริมาณ EGF ในน้ำนมแม่โดยเทคนิคหลายวิธี พบว่า มีจำนวน 30-40 ng/ml เทียบกับในนมวัว มี 2 ng/ ml และไม่พบในนมผงหลายชนิด เมื่อเอานมแม่ไปแช่แข็งหรือแช่เย็นมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้อยมาก ( Iacopetta BJ. Grieu F, Horlsber M et al :Epidermal growth factor in human and bovine milk, Acta Paediatr 81:287,1992)
Relaxin เป็นฮอร์โมนในกลุ่มเดียวกับ insulin ในช่วงตั้งครรภ์ก่อนคลอด relaxin จะผลิตจาก corpus luteum Relaxin ทำให้ข้อต่อช่วงสะโพกมีความยืดหยุ่น เตรียมไว้สำหรับตอนคลอด และทำให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มขึ้น
นอกจากนี้ relaxin ยังช่วยการเจริญเติบโตและการแบ่งเป็นเซลล์ชนิดต่างๆของเนื้อเยื่อเต้านม พบ relaxin ในน้ำนมแม่ที่คลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ แสดงว่าต้องมีการสร้างจากแหล่งอื่น คือผลิตจากเต้านมเองด้วย ในทารกแรกเกิดยังไม่มีการศึกษาผลของ relaxin แต่เชื่อว่ามีผลโดยตรงที่ทางเดินอาหารของทารก