การหย่านมแม่
ควรทำเมื่อทั้งแม่และลูกพร้อม ควรมีการวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้น มิฉะนั้นอาจมีผลกระทบต่อจิตใจทั้งแม่และลูก
ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องเลิก ก็ควรให้นมไปเรื่อยๆ จนหลัง 2 ปีขึ้นไป เมื่อลูกโตขึ้น กินอาหารอื่นมากขึ้น ดูดนมแม่น้อยลง น้ำนมก็จะค่อยๆ ลดไปเองโดยปริยาย เป็นการหย่านมแบบค่อยเป็นค่อยไป
หลังหย่านมแม่ ถ้าลูกอายุเกิน 1 ปี ลูกกินนมกล่องได้ ควรหัดให้ดื่มจากแก้ว หรือใช้หลอดดูด โดยไม่ต้องใช้ขวดนม
การหย่านมควรทำเมื่อทั้งแม่และลูกพร้อม ไม่ควรหย่านมตามความเห็นหรือความต้องการของคนรอบข้าง ถ้าหย่านมเร็วเกินไปจะมีผลกระทบต่อจิตใจของแม่และลูก ทำให้ซึมเศร้า และรู้สึกสูญเสียได้ ถ้าลูกยังปรับตัวไม่ได้ อาจแสดงปฏิกิริยาโดยการร้องและขอดูดนมแม่บ่อยขึ้น หรือในทางกลับกัน ลูกอาจเครียด ไม่ยอมกินอาหารอื่นเลย และแม่เองก็จะมีปัญหาเต้านมคัดตึง เต้านมอักเสบหรือเป็นฝีได้
การวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้นอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเริ่มลดนมแม่วันละ 1มื้อ ทีละสัปดาห์ ( ถ้าหากต้องการหย่านมภายในเวลา 2 สัปดาห์ ก็ให้ร่นช่วงเวลาของการลดมื้อนมจากทุกสัปดาห์เป็นทุก 3 วัน ) ควรลดมื้อกลางวันก่อนมื้อกลางคืน และเว้นระยะระหว่างมื้อนมให้นานขึ้น โดยเริ่มลดมื้อ 14:00 น.ก่อน อีกสัปดาห์จึงลดมื้อ 10:00 น.–>มื้อ 18:00 น –> มื้อ 6:00 น. –> มื้อ 22:00 น.
นอกจากนั้น มีวิธีการอื่นที่ช่วยเสริมให้หย่านมได้ง่ายขึ้น คือ
- ให้นมลูกเฉพาะมื้อที่ลูกขอ จะไม่ให้เมื่อไม่ขอ และให้นมแม่ในระยะเวลาสั้น ๆ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้ลูกอยากดูดนมแม่บ่อย เช่น การนั่งเก้าอี้ที่ชอบในขณะให้นมลูก
- ให้คุณพ่อหรือคนเลี้ยงช่วยให้นมหรืออาหารอื่นแทน
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูกจากการดูดนมแม่ เช่น พาไปในที่ๆ ลูกชอบ ชักชวนให้สนใจสิ่งแวดล้อม การเล่นกับเพื่อน เล่านิทาน เป็นต้น
ให้ความรักความใกล้ชิดกับลูกในรูปแบบอื่นทดแทนการให้นม เช่น เล่นด้วยกัน กอด หรือให้ซุกอกแม่ในขณะให้ดูดนมจากหลอด การกล่อมหรือเล่านิทานเวลาจะนอนจะช่วยลดการดูดนมกลางคืนได้