ซึมเศร้าหลังคลอด จิตตกแค่ไหน…ถึงต้องไปหาหมอ
คุณแม่หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “baby blue” หรือ “post-partum blue” กันมาบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วภาวะนี้ไม่ได้จำเป็นต้องมีอารมณ์เศร้าเท่านั้นค่ะ แต่หมายรวมถึง ภาวะอารมณ์อื่นๆที่เปลี่ยนไปจากเดิมในทางลบด้วย เช่น เบื่อ หงุดหงิด ท้อแท้ คิดวนเวียนด้านลบซ้ำๆ หรือไม่มีความสุขความเพลิดเพลินในการทำสิ่งต่างๆที่เคยทำให้สนุกสนานก็ได้ ตัวผู้เขียนเองชอบคำว่า “จิตตก” ที่เป็นภาษาที่คนในปัจจุบันพูดกันบ่อยๆมากกว่า เพราะให้ความหมายรวมได้ดีกว่าคำว่าซึมเศร้า
ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วจนสมองปรับตัวไม่ทัน ซึ่งพบได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของแม่หลังคลอดทั้งหมด โดยอาการอาจคงอยู่เพียงไม่กี่วันไปจนถึงหลายเดือน แต่อาการต่างๆจะมีไม่มากจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูลูกหรือการทำงานอื่นๆของแม่ แม่ยังสามารถเลี้ยงลูกได้ตามปกติ ใช้ชีวิตด้านการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่นๆได้ตามปกติ
แต่ในแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้ จำนวนหนึ่ง คือ 10 – 15% ที่มีอาการมากขึ้นจนเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่เรียกว่า post-partum depression ในแม่กลุ่มนี้ อาการซึมเศร้าหรือจิตตกจะมีมากจนกระทั่งแม่รู้สึกทุกข์ทรมาน มีผลกระทบต่อการทำงาน การเลี้ยงดูลูก หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ คุณแม่ควรพบบุคลากรทางการแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือค่ะ เพื่อลดความรู้สึกทุกข์ทรมาน และไม่เกิดปัญหาอื่นๆอันเป็นผลจากการที่ไม่สามารถทำงานหรือเลี้ยงลูกได้เต็มที่ หรือผลจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดอื่นๆในภาวะที่อารมณ์ด้านลบท่วมท้น
เมื่อถึงจุดนี้หลายคนอาจจะบอกว่าสิ่งที่เป็นมันตามเหตุปัจจัยที่มากระทบไม่ว่าจะอดนอนเจ็บเต้านม อ่อนเพลีย เจ็บแผลคลอดหรือแผลผ่าตัด สามีไม่ช่วยดูลูก ฯลฯ จะไม่จิตตกอย่างไรไหว มันก็ตรงไปตรงมาตามเรื่องที่มากระทบนี่นา ในความเป็นจริงคือ คนที่สมองยังทำงานได้ปกติ จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ คือ ไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์อย่างรุนแรง คิดเรื่องด้านลบแต่คิดแล้วจบ ปล่อยวางได้ ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันอื่นๆ
แต่เมื่อไหร่ที่การทำงานของสมองเสียสมดุลซึ่งอาจจะเป็นจากความผิดปกติของสมองเองหรือปัจจัยความเครียดที่มากระทบรุนแรงหรือทั้งสองสาเหตุร่วมกันภาวะจิตตกนั้นจะส่งผลต่อเจ้าตัวให้รู้สึกเป็นทุกข์อย่างมากและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แบบที่ทางการแพทย์เรียกว่า “เสียฟังก์ชั่น” คือ ไม่สามารถทำอะไรๆได้ดีเหมือนเดิม จุดนี้ คือ จุดที่ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาค่ะ