คุณค่าน้ำนมแม่

นมแม่สร้าง โครงสร้างของสมอง

10 ธันวาคม 2017
แชร์ให้เพื่อน

นมแม่สร้าง โครงสร้างของสมอง

[seed_social]
[seed_social]

นมแม่สร้าง โครงสร้างของสมอง

 

Cholesterol ในน้ำนมแม่ สร้าง Myelin เป็นเปลือกหุ้มเส้นใยประสาท เป็นสมองส่วนสีขาว(White matter)

การอุ้มลูกขึ้นมากอด สัมผัส ดูดนมแม่บ่อยๆกระตุ้นการงอกงามของเส้นใยเหล่านี้ให้หนาแน่นขึ้น เป็นกลุ่มๆ เชื่อมโยงแต่ละส่วนของสมอง ไว้ด้วยกัน ทุกครั้งที่ ผิวแม่สัมผัสลูก หูลูกได้ยินเสียงหัวใจแม่ ตาลูกมองเห็นหน้าแม่ เส้นใยยิ่งสร้างมากขึ้นตลอดเวลา

น้ำนมแม่สร้างเส้นใยประสาทที่มีเปลือกหุ้ม ทำให้สัญญาณไฟฟ้าวิ่งไวขึ้นจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ไฟฟ้าสมองวิ่งไวขึ้น มีการเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างๆของสมองเร็วขึ้น คิดเร็ว เข้าใจได้เร็ว จำได้ดีขึ้น

เปรียบการสร้างใยประสาท เหมือนการสร้างโครงข่ายถนนใยแมงมุม ที่เชื่อมเมืองต่างๆไว้ด้วยกัน ถนนมาก ตรอกซอกซอยเยอะ ย่อมมีทางเลือกให้ติดต่อกันได้เร็วขึ้น ยิ่งเป็นถนนราดยาง (มีเปลือก myelin หุ้ม )รถย่อมวิ่งเร็วกว่า ถนนดินลูกรังขรุขระ วิ่งฉิวถึงจุดหมายได้เร็วกว่า

ในการบรรยาย อาจารย์ได้สาธิต การเล่นซ่อนหา เพื่ออธิบายว่า สมอง ส่วน EF มี 5 กระบวนการ อะไรบ้าง
ได้นำแรงบันดาลใจจากการฟังบรรยาย มาเขียน “ชวนเด็กๆมาเล่นซ่อนหากันเถอะ” ค่ะ/ แอดมินหมอติ๋ม

“ชวนเด็กๆมาเล่นซ่อนหากันเถอะ”

ยังจำความรู้สึกสนุกสนานในวัยเด็ก ตอนเล่นโป้งแปะกับพี่ๆน้องๆ หรือเพื่อนๆได้ไหมคะ เวลาพี่น้องมาเจอกันหลายๆบ้าน ก็จะรวมหัวกันโอน้อยออก หาคนที่จะหันหน้าเข้าหาหางนกยูงต้นใหญ่ ปิดตา นับหนึ่งถึงร้อย (แอบนับเร็วๆตอนทุกคนวิ่งหายไปหมดแล้ว)ขณะที่อีก 4 คนก็จะวิ่งหาที่ซ่อนตามที่ต่างๆทั้งใน และนอกบ้าน

พอหันหน้ากลับมา หัวสมองเริ่มคิดแล้วว่า จะหา ใครที่ไหนก่อนดี เมื่อกี้นี้ที่ปิดตาไม่ได้ยินเสียงหมาเห่าเลย แสดงว่า ต้องไม่มีใครวิ่งไปซ่อนหลังบ้านแถวกรงหมาแน่ๆ ตัดทิ้งไปหนึ่งแห่ง หาคนเล็กก่อนดีกว่า เอ! ครั้งทีแล้วน้องคนเล็กไปแอบอยู่ในตู้เก็บของใบใหญ่แล้วคนหากันไม่เจอ ไปที่นั่นดูซิ

แต่พอวิ่งไปถึงประตูที่จะเข้าบ้าน ชะงักนิดนึง ไม่เห็นมีรองเท้าใครถอดอยู่เลย แต่ก็ไม่แน่ อาจจะเข้าทางประตูหลังบ้าน หรือถือรองเท้าเข้าไปด้วยหลอกเราก็ได้ วิ่งไปห้องเก็บของ ประตูตู้ชั้นบนอยู่สูงเกินกว่าที่น้องจะเปิดถึง งั้นก็ต้องเป็นบานล่างนีแหละ ค่อยๆแง้มบานประตูตู้ เสียงไม้เสียดสีกันดัง….แอ๊ะ ..แอ๊ะ แอ๊ด……ยู้ฮู มีใครอยู่ไหม ภายในมีแต่ ถ้วยชามวางเรียงกัน ไม่ยักกะมีคนแอบอยู่ … ผิดหวังครั้งที่ 1

ยอมแพ้ไหมคะ…ไม่ยอมสิ. … เปลี่ยนแผนใหม่ จะมีที่ไหนอีกไหมที่เป็นที่เล็กๆพอที่น้องจะเข้าไปแอบได้ …อ๋อ …นึกออกแล้ว ใต้เตียงห้องนอนมีที่พอที่น้องจะซุกเข้าไปได้ แล้วก็มีผ้าคลุมปิดไว้ด้วย

วิ่งไปที่ห้องนอน…ค่อยๆเลิกผ้าคลุมใต้เตียงขึ้น …จ๊ะเอ๋ น้องนอนนิ่งเงียบ แทบไม่กระดุกกระดิก ทำตาปริบๆอยู่นี่เอง…โป้ง…ออกมาซะดีๆ แล้วพี่น้องสองคนก็สุมหัวหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน ออกตามหาน้องอีก 2 คนที่เหลือ ไม่ปล่อยเวลาดีใจนานเกินไป

การละเล่นของเด็กๆ ไม่ใช่จะได้แต่ความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียวค่ะ แต่เชื่อหรือไม่ว่า นี่คือการฝึกสมองส่วน ที่ใช้ทักษะกระบวนการคิด เพื่อทำงานให้สำเร็จ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

เริ่มต้นจากขั้นที่ 1 ตั้งเป้าหมาย คือหาน้องๆที่ซ่อนอยู่ให้เจอ วางแผน หาคนเล็กก่อน เพราะแนวโน้มน่าจะซ่อนที่เดิมๆ

จากความจำที่ระลึกได้ ว่าครั้งก่อนซ่อนที่ไหน คือการเรียกเอาข้อมูลขึ้นมาใช้ working memory ถูกนำออกมาใช้ วิ่งไปดูที่แรกไม่เจอ

รีบเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทันที คือมี การสับสวิชท์เปลี่ยนเกียร์สมอง หาทางใหม่
ไม่ย่อท้อต่ออะไรโดยง่าย ไม่ทิ้งงานไปกลางคัน

ทั้งหมดนี้ได้ใช้การคิด เหตุผล เพื่อมาแก้ปัญหา ทั้งการใช้หูฟังเสียงขณะปิดตา และ การใช้ตาสังเกตสิ่งรอบตัว สมองคิด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ในที่นี้คือ หาคนที่ซ่อนอยู่ให้เจอ

สรุป ทักษะการคิด เพื่อความสำเร็จในชีวิต (Executive Function) คือความสามารถของสมอง 5 ประการ คือ
1 Goal directed ตั้งเป้าหมาย
2.Self control ควบคุมตัวเองให้แน่วแน่ต่อเป้าหมาย
3.Working memory เอาความจำมาใช้งานได้
4.Switching มีแผนสำรอง เมื่อแผนแรกล้มเหลว ยืดหยุ่น
5. Cognitive function สติปัญญา

ทั้งหมดนี้ฝึกได้จากการเล่นของเด็ก. เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นตามวัย กับเพื่อนๆ เพื่อให้สมองส่วนความคิดได้ทำงานค่ะ
(Slideประกอบการบรรยาย ของอ พรพิไล เลิศวิชา)
ขอขอบคุณ อาจารย์ พรพิไล เลิศวิชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ Brain-based Learning
ที่มากระตุ้นต่อม ความคิดใสๆในวัยเด็ก ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในที่ประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 6
โดย การแสดงให้เห็นว่า การเล่นซ่อนหา คือการฝึกสมองเด็กๆได้อย่างไร

ได้ย้อนวัยกันอย่างสนุกสนาน
อย่าลืมชวนเด็กๆมาเล่นซ่อนหากันนะคะ
(อ้อ! แต่อย่าเล่นเพลินจนค่ำมืดนะคะ จำได้ว่า ผู้ใหญ่จะบอกให้เลิกเล่นก่อนพลบค่ำเสมอ ก็คงจะมีเหตุผลด้านความปลอดภัยล่ะค่ะ)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
นมแม่มีเซลล์จับกินเชื้อโรค
เอกสิทธิ์น้ำนมแม่ Lysozyme
นมแม่ กับ เด็กตัวเตี้ย (Breastfeeding and Stunting)