ปัญหาการดูดนมของลูก

น้ำนมพุ่ง ลูกสำลัก ทำให้ไม่ยอมดูด

22 มิถุนายน 2017
แชร์ให้เพื่อน

น้ำนมพุ่ง ลูกสำลัก ทำให้ไม่ยอมดูด

[seed_social]
[seed_social]

รวบรวมโดย กุ๊ก Sansmile

คุณแม่ที่มีน้ำนมไหลพุ่งแรงจนทำให้ลูกกลืนไม่ทัน มีอาการสำลักและเบือนหน้าหนีออกจากเต้าไม่ยอมดูด อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองมีน้ำนมน้อยลูกจึงไม่ยอมดูด เป็นสาเหตุหนึ่งของการหันไปพึ่งนมผสมเสริม คุณแม่ที่มีน้ำนมพุ่งจะพบว่าพอลูกถอนปากเมื่อเริ่มดูดนมจะมีน้ำนมพุ่งแรงใส่หน้าลูกหรือเต้านมอีกข้างมีน้ำนมพุ่งออกแรงด้วย

 

1. อาศัยท่าในการให้นม ให้แม่อยู่ในท่านอนหงาย ให้ลูกนอนคว่ำบนอกแม่ หรือใช้ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนเพราะจะทำให้น้ำนมไหลช้าลง เมื่อลูกดูดไปได้สักพัก น้ำนมจะไหลช้าลงเป็นปกติ คุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนกลับท่าอื่นได้

2. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบบริเวณลานนม หรือใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางคีบเหมือนคีบบุหรี่บริเวณลานนมเพื่อกดท่อน้ำนมทำให้น้ำนมไหลช้าลง แต่เมื่อน้ำนมไหลช้าลงแล้ว ก็เปลี่ยนมือเป็นท่าประคองเต้านมได้

3. บีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อนให้ลูกดูด แต่อย่าบีบออกเยอะ มิฉะนั้น เต้านมจะสร้างน้ำนมมากขึ้น น้ำนมอาจพุ่งมากขึ้น

ท่าในการให้นม ให้แม่อยู่ในท่านอนหงาย ให้ลูกนอนคว่ำบนอกแม่

ถ้าใช้ 3 วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ก็ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น

1. ให้ลูกดูดนมเพียงเต้าเดียวจนอิ่ม อีกเต้าหนึ่งไม่ให้ดูด แต่ถ้าคัด ก็บีบออกเล็กน้อยพอให้อาการคัดทุเลา อย่าบีบออกหมด จากนั้น ค่อยทำแบบเดียวกันกับอีกเต้าหนึ่ง เพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองว่าร่างกายไม่ต้องการใช้มาก ก็จะสร้างน้ำนมน้อยลง หลัง 4-7 วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจทำแบบนี้ต่อโดยยืดเวลาให้นานขึ้นก่อนจะเปลี่ยนเต้า เช่นยืดเวลาจาก 3 เป็น 4 ชั่วโมง ถ้าเป็นมากๆ อาจยืดถึง 6 ชั่วโมงก็ได้

2. ในรายที่แม่น้ำนมพุ่ง และลูกขี้หงุดหงิด ให้ลูกดูดในช่วงที่ลูกเพิ่งตื่นใหม่ๆ ยังไม่ตื่นเต็มที่ ยังไม่ทันจะหงุดหงิด เวลาดูด จะดูดไม่แรงนัก ก็กระตุ้นน้ำนมน้อยลง

3. การปรับท่าให้นม ถ้าลูกไม่ชอบนอนคว่ำ อาจเอาแค่เอนๆ ไปด้านหลังโดยให้ปากและลำคอของลูกอยู่ในระดับสูงกว่าหัวนมแม่ เพื่อลดแรงพุ่งของน้ำนม

4. อาจให้นอนตะแคงด้วยกัน ในท่านี้ เวลานมออกเยอะมาก ลูกอาจคายปากเล็กน้อยให้น้ำนมแม่ไหลออกข้างมุมปาก ลดการสำลักลง

5. อาจใช้แผ่นพลาสติกยางที่ครอบเต้านม ที่เรียกว่า nipple shield ครอบบนเต้านมแม่ก่อนให้ลูกดูด วิธีนี้ จะลดแรงดูดต่อเต้านมลง แต่ไม่ควรใช้นาน มิฉะนั้นลูกอาจจะติดได้

6. ที่สำคัญเด็กมักจะได้ลมเข้าไปเยอะ อย่าลืมไล่ลมให้เรอด้วยนะคะ

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
ต้องจับลูกเรอหลังกินนมทุกครั้งหรือไม่ ถ้าสะอึกจะทำอย่างไรดี
แม่ไม่สบาย ต้องกินยา ให้นมลูกต่อไปได้หรือไม่
การบีบน้ำนมจากเต้าด้วยมือ