พัฒนาการในการกินอาหาร….อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของอาหารตามวัย
เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในช่วงขวบปีแรกคือ นมแม่ จึงมีการแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ซึ่งในช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้ สารอาหารในนมแม่ยังเพียงพอต่อความต้องการของทารกในแต่ละวัน เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและกิจกรรมต่างๆ ของทารก
หลัง 6 เดือนเป็นต้นไป สารอาหารและพลังงานจากการกินนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการของทารกอีกต่อไป เนื่องจากทารกมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ทารกมีพัฒนาการก้าวหน้า สามารถเคลื่อนไหวและมีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จึงมีความต้องการสารอาหารและพลังงานมากขึ้นเช่นกัน
ในวัย 6 เดือนถึง 1 ปี จึงควรเลี้ยงทารกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม อาหารตามวัยไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่เป็นแหล่งสารอาหารและพลังงานเพิ่มเติมให้กับทารกในวัย 6 เดือนถึง 1 ปีเท่านั้น การให้อาหารตามวัย ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการกินอาหารให้กับทารกด้วย
ในกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชิวิต ธรรมชาติได้สร้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขึ้นมา เพื่อให้ตัวอ่อนที่ยังไม่มีความสามารถกินอาหารได้แบบตัวโตเต็มวัยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยนมแม่ของมันเอง ต่อมาเมื่อตัวอ่อนเติบโตและแข็งแรงพอ ก็จะสามารถพัฒนาไปกินอาหารแบบตัวเต็มวัยได้และเลิกกินนมแม่ในที่สุด
มนุษย์ก็เช่นกัน ในช่วงวัย 6 เดือนถึง 1 ปี นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทารกจะเรียนรู้และพัฒนาการกินอาหารเพื่อให้ใกล้เคียงกับอาหารผู้ใหญ่ได้มากที่สุด
ในขวบปีที่ 2 ผู้เลี้ยงดูจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของอาหารตามวัยที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้กับทารก
เมื่อทารกอายุ 6 เดือน เป็นวัยที่เริ่มกินอาหาร ทารกจะเริ่มเรียนรู้ลักษณะเนื้ออาหารที่กินจากนมแม่ซึ่งเป็นของเหลวเป็นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว อาหารตามวัยในช่วงนี้จึงต้องมีเนื้อสัมผัสที่ละเอียด มีความข้นพอสมควรเพื่อให้ทารกรับได้ อาหารตามวัยที่ทารกได้รับควรมีการปรับเปลี่ยนเนื้อสัมผัสให้มีความหยาบมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่ออายุประมาณ 8-9 เดือน ทารกควรได้รับอาหารตามวัยที่มีลักษณะเนื้อสัมผัสแบบข้าวบดหยาบๆ หรือโจ๊กได้ และพัฒนาไปเป็นข้าวสุกหุงนิ่มๆ เมื่ออายุใกล้ 1 ปี
ในปัจจุบัน หลายครอบครัวนิยมปรุงอาหารตามวัยด้วยการปั่น เพราะสะดวก ประหยัดเวลา และทำได้ทีละหลายมื้อ อย่างไรก็ตาม
ไม่แนะนำให้ปั่นอาหารไปตลอด 6 เดือนที่ทารกกินอาหารตามวัย เพราะจะทำให้ทารกไม่ได้เรียนรู้เนื้อสัมผัสที่หยาบและใกล้เคียงกับอาหารผู้ใหญ่ ไม่สามารถสร้างความคุ้นเคยกับเนื้อสัมผัสของอาหารแบบผู้ใหญ่ได้
หากอายุเกิน 1 ปี การเริ่มฝึกให้เด็กเรียนรู้การกินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหยาบๆ อาจฝึกฝนได้ยากกว่าการฝึกในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี
นอกจากเนื้อสัมผัสที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ วิธีการป้อนอาหารและการกินอาหารของทารกก็มีการปรับเปลี่ยนตามพัฒนาการของทารกด้วยเช่นกัน
ในวัย 6 เดือน ทารกจะรับอาหารจากผู้เลี้ยงที่ป้อนได้ดี อาจมีการส่งเสียงบอกความต้องการอาหาร
ในวัย 8-9 เดือน ทารกเริ่มมีพัฒนาการในการใช้มือมากขึ้น จึงพบว่าทารกต้องการมีส่วนร่วมในการกินอาหาร อยากหยิบจับอาหารหรืออุปกรณ์ในการกินอาหาร เช่น ช้อน เป็นต้น ในวัยนี้ ผู้เลี้ยงดูควรเปิดโอกาสให้ทารกได้หยิบจับอาหารกินเอง หรือที่เรียกว่า finger food หรือให้ถือช้อนลองตักอาหารหรือเล่นกับอาหาร
ในวัย 10-12 เดือน ทารกจะเริ่มตักอาหารและพยายามเอาเข้าปากเองได้ อาจมีหกเลอะเทอะบ้าง บางคนจะทิ้งช้อนหรืออาหารลงพื้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้ในวัยนี้ และเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของทารก ควรเปิดโอกาสให้ทารกได้ทำด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านการกินอาหารให้ทารกสามารถกินอาหารได้เองในที่สุด นอกจากนั้น การที่ทารกสามารถตักอาหารหรือป้อนอาหารได้ด้วยตนเอง ยังเป็นการส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านอารมณ์ของทารกเมื่อเติบโตขึ้นต่อไป
ในการให้อาหารตามวัย ควรมีที่นั่งประจำสำหรับการกินอาหาร เพื่อให้ทารกเรียนรู้สุขลักษณะนิสัยที่ดีของการกินอาหาร ไม่ควรเดินตามป้อน วิ่งเล่นไปกินไป ในระหว่างมื้ออาหาร ไม่ควรมีของเล่นอื่น เปิดโทรทัศน์ หรือสื่อดึงดูดความสนใจอื่นๆ เพราะทารกจะสนใจของเล่นหรือแสงเสียงเหล่านั้นมากกว่าอาหาร แต่อาจให้ทารกเล่นกับอุปกรณ์การกินอาหารหรืออาหารได้ตามความเหมาะสม
มื้ออาหารควรเป็นมื้อแห่งความสุข ผู้เลี้ยงดูควรสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้มีความสุข อาจมีการพูดคุยกับทารกในระหว่างป้อนอาหาร ชมเชยหรือปรบมือเมื่อทารกสามารถกินอาหารหรือทำกิจกรรมที่คาดหวังได้
หากทารกปฏิเสธอาหาร ควรหยุดและเริ่มใหม่ในมื้อต่อไป ไม่ควรใช้การบีบบังคับ หรือใช้อารมณ์ในการป้อน เพราะจะทำให้ทารกรับรู้ว่าการกินอาหารเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี ไม่มีความสุข และจะส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอาหารในวัยเด็กต่อไป
จะเห็นได้ว่า นอกจากการเป็นแหล่งสารอาหารและพลังงานเพิ่มเติมให้กับทารกควบคู่ไปกับนมแม่แล้ว อาหารตามวัย ยังมีบทบาทช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการกินอาหารของทารก ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูและทารกในระหว่างมื้ออาหาร สร้างความเพลินเพลิด ความสุข และพัฒนาการทางอารมณ์ของทารก หากผู้เลี้ยงดูมีความรู้ความเข้าใจที่ดีในการให้อาหารตามวัยอย่างเหมาะสม จะทำให้ทารกมีพัฒนาการและสุขลักษณะในการกินอาหารที่ดีต่อไปในอนาคต