พรบ.ควบคุม

มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ จับมือ ยูนิเซฟ กรมอนามัย และ สสส.จัดเสวนา ไขความกระจ่าง ทำไมต้องหนุน CODE เป็นกฎหมาย

26 สิงหาคม 2017
แชร์ให้เพื่อน

มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ จับมือ ยูนิเซฟ กรมอนามัย และ สสส.จัดเสวนา ไขความกระจ่าง ทำไมต้องหนุน CODE เป็นกฎหมาย

[seed_social]
[seed_social]

กรุงเทพฯ–5 พฤศจิกายน 2556— กรมอนามัย ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย จัดงาน “ร้อยเรียงว่าด้วย CODE” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งสัญญาณความพร้อมในการผลักดันหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ให้เป็นพระราชบัญญัติเพื่อมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม หวังปกป้องสิทธิเด็กไทยได้ดื่มนมแม่

 


การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นพ. ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย พร้อมด้วย พญ. ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้า พระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. .… รวมทั้งรูปแบบการละเมิด CODE ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง พร้อมตอกย้ำความจำเป็นต้องผลักดันเป็นกฎหมายด้วยการนำเสนอจากข้อมูลวิชาการที่คัดกรองอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด จาก นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และนางพรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารนิเทศ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

 

นพ. ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความมั่นใจในการผลักดันประมวลกฎหมายดังกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ทางกรมฯ มิได้ละเลยหรือลดทอนความสำคัญแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับยิ่งมุมานะส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการเสนอวาระการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จนกระทั่งมีมติเห็นชอบจากที่ประชุม พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ. และสรรหาทุกวิถีทางในการสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยยุทธวิธีที่หลากหลาย
“จนกระทั่งในปี 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก ให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558 หรือให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก ให้ได้ 4.8 แสนคน” และส่งเสริมให้มารดาให้นมแม่ต่อเนื่องแก่ลูกหลังอายุ 6 เดือนพร้อมอาหารตามวัยเป็นระยะเวลา 2 ปีหรือนานกว่านั้น เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าว

 


พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดเสวนา “ร้อยเรียงว่าด้วย CODE” ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น แต่ต้องการเปิดเผยถึงอุปสรรคก้อนโตคือการละเมิด CODE ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง การอาศัยบุคคลากรทางการแพทย์แจกสินค้าตัวอย่าง หรือแม้แต่การตั้งบูธขายนมผงในโรงพยาบาล เป็นต้น โดยไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงควรเร่งผลักดันให้ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ประกาศให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

 


ทั้งนี้ การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับรองจากภาคีเครือในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ. 2553 จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้รับรองมติเมื่อ ปี พ.ศ. 2554 และปัจจุบัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย นำกลับไปปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบางส่วน ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า ร่างพ.ร.บ. ฯ นี้เป็นเครื่องมือที่จัดทำขึ้นสำหรับควบคุมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทประกอบธุรกิจอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ขาดจรรยาบรรณ โดยไม่ได้ไปควบคุมการขายหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ แต่มุ่งกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งสถานบริการสาธารณสุขและระบบบริการสุขภาพ

 


ดังนั้นวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ. ฯ จึงมิได้มีเจตนาหรือแสดงการใส่ร้ายป้ายสีให้บริษัทเป็นจำเลยของสังคม หรือ ให้บุคลากรสาธารณสุขเห็นบริษัทเป็นศัตรู หรือ ห้ามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและอาหารเสริมแก่ทารกและเด็กเล็ก หรือมุ่งรอนสิทธิการทำตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่ต้องการควบคุมผู้ที่ทำตลาดอย่างขาดจริยธรรม รวมทั้งมุ่งสร้างกติกาให้บริษัทผู้ผลิตอาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตาม “เราหวังให้ผู้ผลิตนมผงส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับอาหารทารกที่ถูกต้อง รวมถึงค่าใช้จ่ายและอันตรายจากการให้ artificial feeding (การให้อาหารทดแทนนมแม่) และอธิบายประโยชน์จากคุณค่าของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเรื่องนี้แม่มีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเท่าเทียม นั่นคือ ข้อมูลการเลี้ยงลูกและการให้นมผงที่ถูกต้องจากบริษัท ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับความรู้และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก และรับนมแม่อย่างต่อเนื่องพร้อมอาหารตามวัยที่เหมาะสมเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือนานกว่านั้น” นพ. ศิริวัฒน์ กล่าว

 


ด้าน นางพรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารนิเทศ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กล่าวถึงร่าง พระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. .… คือเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของทารกและเด็กเล็กที่จะได้กินนมแม่ เพราะนมแม่มีประโยชน์มากมาย ทั้งสารอาหารครบถ้วนเหมาะสมต่อการย่อยและการดูดซึม ช่วยในการพัฒนาการของลูก มีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะหัวน้ำนมนั้นเป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิต ป้องกันการแพ้โปรตีนหรือป้องกันภูมิแพ้ นอกจากนี้ ยังดีต่อสุขภาพคุณแม่ ทำให้รูปร่างดี ไม่อ้วน มดลูกเข้าอู่หรือคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น และยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคร้ายในหญิงไทยเป็นอันดับต้นๆของการเสียชีวิตด้วยมะเร็ง ตลอดจนประหยัดรายจ่ายในการซื้อและเตรียมนมผสม ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตลอด 6 เดือนได้ โดยไม่เสียเงินค่าอาหารของลูกสักบาทเดียวเลย

 


ดังนั้นจะเห็นว่า กรณีที่ทารกและเด็กเล็กไม่ได้กินนมแม่ที่มีสานอาหารดีที่สุด ด้วยอิทธิพลของการตลาดที่ไร้จริยธรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องออกมาปกป้องสิทธิของเด็กไทย ด้วยการร่วมสนับสนุนให้พ.ร.บ. ฯ สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมาย มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย ไม่ว่าสุขภาพร่างกาย สติปัญญา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดคือคุณภาพของประชากรในประเทศจะด้อยคุณภาพจนรั้งท้ายประเทศต่างๆ แม้แต่ในอาเซียนก็เป็นได้

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
งานสัปดาห์นมแม่โลก 2017
อบรมหลักสูตร Trainer
งานเสวนานมแม่ Café รพ.ราชวิถี 26 กรกฎาคม 2557