ลูกดูดนมบ่อยและนานมาก
ในช่วงเดือนแรกๆ คุณแม่หลายคนรู้สึกว่าทำไมลูกติดเต้าจัง ดูดทีเป็นชั่วโมงๆ พอเอาออกก็ร้อง ต้องให้ดูดใหม่ จนแม่ไม่เป็นอันทำอะไร เรื่องนี้ไม่ยากเกินแก้ค่ะ เพียงคุณแม่สังเกตสักนิดว่า
ลูกดูดไปหลับไป ทั้งที่ยังไม่อิ่มนมหรือเปล่า
คุณแม่เห็นลูกหลับจึงเอาลูกออกจากเต้าเพราะเข้าใจว่าลูกอิ่มแล้ว พอจะเอาออกก็ร้องขอดูดต่อ หรือหลับได้ครู่เดียวก็ร้องหิวใหม่อีก ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองน้ำนมน้อย แนะนำให้คุณแม่สังเกตว่าถ้าลูกหลับขณะกินนมและคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม แต่ถ้ายังไม่คาย เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบาๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อโดย
ใช้นิ้วชี้ที่ประคองด้านล่างของเต้านมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ดูดต่อ
ใช้มือบีบเต้านมเพื่อไล่น้ำนมเข้าปากลูก ลูกจะกลืนน้ำนมและดูดต่อ เมื่อลูกหยุดดูด ก็บีบใหม่ ทำเป็นระยะๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง (ดูวิดีโอ) แต่ถ้าบีบไล่น้ำนมสักพักแล้วไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะน้ำนมในเต้านั้นลดน้อยลงและไหลช้าลง ก็ให้เปลี่ยนไปอีกเต้าหนึ่ง ทำเป็นระยะๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง
ถ้าไม่ยอมตื่นดูดต่อ ให้เอาลูกออกจากเต้า และปลุกให้ตื่นก่อน จึงนำเข้าเต้าเพื่อดูดนมอีกครั้ง
เทคนิคปลุกลูกขี้เซาให้ลุกขึ้นมาดูดนม
– หรี่แสงไฟในห้องลง เพราะถ้าแสงจ้า ลูกจะหลับตา
– ถ้าห่มผ้าหรือสวมเสื้อหนา ให้เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่บางลง เพราะลูกจะหลับง่ายถ้าอุ่นมาก
– พูดคุยกับลูก และพยายามจ้องตาด้วย
– เขี่ยมือและเท้า หรือลูบหลังลูก
– เปลี่ยนผ้าอ้อม
– ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณหน้าผากและแก้ม
ลูกดูดผิดวิธีทำให้ได้รับน้ำนมไม่เพียงพอหรือเปล่า
ต้องตรวจสอบวิธีการดูดของลูกว่าถูกต้องหรือยัง ซึ่งถ้าลูกอมหัวนมได้ถูกต้อง เหงือกลูกจะงับที่ลานนม ดูดแรงและเป็นจังหวะช้าๆ คุณแม่จะเห็นเต้านมที่เหนือปากลูกกระเพื่อมและกล้ามเนื้อขากรรไกรของลูกขยับ อาจได้ยินเสียงลูกกลืนเป็นระยะๆ ซึ่งแสดงว่าลูกดูดแล้วได้น้ำนม หากลูกอมงับหัวนมผิดวิธี หรือดูดเป็นจังหวะถี่ๆ เกินไป แต่ดูดได้เบา หรือแก้มบุ๋ม ให้สอดนิ้วเข้าที่มุมปากลูกระหว่างช่องเหงือก ให้ปากลูกออกจากหัวนม แล้วจึงนำกลับเข้าเต้าใหม่
ลูกดูดได้แต่น้ำนมส่วนหน้าหรือเปล่า
การที่คุณแม่ให้ลูกดูดสลับเต้าไปมาอยู่ตลอดทั้งๆ ที่ลูกยังดูดไม่เกลี้ยงเต้าจะทำให้ลูกดูดได้แต่น้ำนมส่วนหน้าซึ่งมีไขมันน้อยกว่าน้ำนมส่วนหลังทำให้ไม่อยู่ท้อง คุณแม่จึงควรให้ลูกดูดนมข้างหนึ่งจนเกลี้ยงเต้าแล้วค่อยเปลี่ยนไปดูดอีกข้าง พอถึงมื้อต่อไปก็ให้เริ่มจากข้างที่ดูดค้างไว้จากมื้อที่แล้ว ทำเช่นนี้ ลูกก็จะได้รับน้ำนมทั้งสองส่วน
เป็นนิสัยของเด็กเองหรือเปล่า
เด็กบางคนก็อยากดูดนมแม่ตลอดเวลาเพื่อความอุ่นใจ โดยเฉพาะในระยะแรกเกิด หรือในช่วง 2 เดือนแรก จากเดิมที่ลูกเคยอบอุ่นอยู่ในท้องแม่ เมื่อออกมาอยู่นอกท้องแล้วมีความรู้สึกอ้างว้าง การที่มีคุณแม่คอยดูแลอยู่ข้างๆ ส่งเสียงให้ลูกได้ยิน อุ้มปลอบบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องให้ดูดนมทุกครั้งจะช่วยให้ลูกปรับตัวเองได้ดีขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น