ลูกตัวเหลือง
การป้อนน้ำไม่ช่วยลดอาการเหลือง ส่วนการงดนมแม่ จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุและระดับของสารสีเหลืองในทารกแต่ละราย
สารสีเหลืองพวกนี้ ไม่ละลายในน้ำ ต่อให้กินน้ำมากแค่ไหน ก็ไม่ช่วย
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดมีหลายสาเหตุ เช่นกรุ๊บเลือดแม่ – ลูกไม่เข้ากัน ภาวะพร่องเอนซัยม์ G6PD และอื่นๆ
สำหรับภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มี 2 ชนิด คือ
1. Inadequate breastfeeding jaundice ภาวะตัวเหลืองจากการที่ได้นมแม่ไม่พอ พบได้ในช่วงอายุ 2 – 4 วันแรก เกิดจากการที่ลูกได้นมแม่ไม่เพียงพอ ทำให้ขับขี้เทาและสารสีเหลืองออกทางอุจจาระได้ช้า ป้องกันได้โดยให้ดูดนมแม่บ่อยๆ (อย่างน้อย 8 มื้อต่อวัน)
2. Breastmilk jaundice มักพบหลังลูกอายุ 5 วัน สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ มีบางสมมุติฐานที่เชื่อว่าสารบางชนิดในนมแม่อาจรบกวนกระบวนการขับสารสีเหลือง เช่นโดยการยับยั้งเอนซัยม์ที่ช่วยในกระบวนการนี้โดยทั่วไปภาวะนี้ไม่เป็นอันตรายในทารกครบกำหนด สามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไปได้ โดยไม่ต้องงด ระดับสารตัวเหลืองจะขึ้นสูงสุดระหว่าง 10 – 21 วัน แล้วค่อยๆ ลดลงจนหายไปเองในสัปดาห์ที่ 3 แต่บางรายอาการเหลืองอาจยังมีเล็กน้อยจนถึงเดือนที่ 3
ในกรณีที่ระดับของสารสีเหลืองสูงมากจนอาจเป็นอันตราย คุณหมออาจให้ส่องไฟร่วมกับงดนมแม่ 1 วัน หลังจากนั้นเริ่มนมแม่ใหม่ ลูกจะไม่กลับมาตัวเหลืองเพิ่ม แต่ระหว่างนี้ขอให้คณแม่บีบนมออกบ่อยๆ อย่าให้นมคัด และในการให้นมอื่นระหว่างงดนมแม่ ก็ขอให้ป้อนนมลูกด้วยถ้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดจุกนมจนไม่ยอมกลับมาดูดนมแม่อีก