ส่วนเรื่องเกี่ยวกับวัณโรคกับการให้นมแม่ พอจะสรุปสั้นๆได้ว่า ถ้าวัณโรคของแม่อยู่ในระยะกำเริบ มีเชื้อในเสมหะ ต้องแยกแม่ลูก แต่ให้ลูกกินน้ำนมแม่บีบให้คนอื่นป้อนได้ จะให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันต่อเมื่อวัณโรคอยู่ในระยะสงบแล้ว ไม่มีเชื้อในเสมหะ( คือแม่รักษาจนเชื้อไม่มีในเสมหะแล้ว ) แต่ถ้าแม่มีวัณโรคที่เต้านม หรือเต้านมอักเสบจากเชื้อวัณโรค ไม่สามารถให้น้ำนมแม่ได้
ที่ต้องระวังอีกอย่างคือ แม่รับเชื้อวัณโรคมาจากไหน มีคนอื่นในบ้านเป็นอีกหรือเปล่า บางทีไปแยกแม่ลูก แต่เอาไปให้ญาติที่เป็นวัณโรคเหมือนกันเลี้ยงก็ยิ่งแย่ เพราะฉะนั้น ตรวจทุกคนในบ้านที่ใกล้ชิดกับแม่และลูกด้วยค่ะ
มีรายละเอียดเกี่ยวกับวัณโรคในแม่และการให้นมแม่ดังนี้
1.แม่เป็น TB Infection , ไม่ได้เป็นโรค : กลุ่มนี้จะมีการทดสอบวัณโรคที่ผิวหนัง(tuberculin skin test)ได้ผลบวก หรือมีการเปลียนแปลงจากลบเป็นบวกในระยะเวลาไม่นานนี้ (recent converter) แต่แม่ไม่มีอาการและการตรวจร่างกายไม่พบรอยโรค เอ๊กซเรย์ปอดปกติ รักษาแม่แบบ prophylactic ไม่ต้องแยกแม่ลูก ให้กินนมแม่ได้
2.แม่เป็น TB infection, เอ๊กซเรย์ปอดผิดปกติ แต่ไม่บ่งว่าเป็นระยะโรคกำเริบ
2.1 แม่มีอาการ หรือการตรวจพบที่น่าสงสัยว่าเป็น active TB ให้ตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค ถ้าพบว่าเชื้อ active ให้ยารักษาวัณโรคแก่ทารก และติดตามอาการใกล้ชิด กรณีนี้ให้แยกแม่ลูก แต่แม่สามารถบีบน้ำนมแม่มาให้คนอื่นป้อนได้ กรณีที่แม่ไม่มีรอยโรคที่เต้านม และไม่มีเต้านมอักเสบ
2.2 แม่ไม่มีอาการหรือการตรวจพบที่น่าสงสัย TB เลือกตรวจเสมหะในบางราย ไม่ต้องให้ยาในทารก ไม่ต้องแยกแม่ลูก และให้กินนมแม่ได้
3. TB infection , เอกซเรย์ปอดผิดปกติบ่งว่าโรคระยะกำเริบ (active ) ให้ยารักษาวัณโรคแก่ทารก และติดตามอาการใกล้ชิด กรณีนี้ให้แยกแม่ลูก แต่แม่สามารถบีบน้ำนมแม่มาให้คนอื่นป้อนได้ กรณีที่แม่ไม่มีรอยโรคที่เต้านม และไม่มีเต้านมอักเสบ
4.TB disease , สงสัยมีเต้านมอักเสบจากเชื้อวัณโรค ตรวจเสมหะ ให้ยารักษาแก่ทารก แยกแม่ลูก ไม่ให้น้ำนมแม่
5.TB infection , มีหลักฐานว่าเป็น tuberculin skin test เปลี่ยนจากลบเป็นบวกในเวลาไม่นานนี้ แต่ยังไม่ได้ตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ให้ทำเอกซเรย์ปอดและแปลผลภายใน 24 ชั่วโมง ระหว่างที่รอผลเอ๊กซเรย์ ให้แยกแม่ลูกไว้ก่อน แต่ให้ลูกกินน้ำนมแม่ที่บีบออกมาได้ ผลเอ๊กซเรย์เป็นอย่างไร ให้ทำตามข้อ 2 และ 3
(ข้อมูลจาก Red Book : report of the committee on Infectious Diseases, AAP , 2003)
ในกรณีที่ไม่มีการติดเชื้อวัณโรคที่เต้านม ยังไม่มีรายงานว่ามีการส่งผ่านเชื้อวัณโรคทางน้ำนมแม่ เพราะฉะนั้นระหว่างที่แยกแม่ลูกจากกันเป็นเวลาสั้นๆขณะรอผลตรวจให้ครบ สามารถบีบหรือปั๊มน้ำนมแม่ออกมาให้ลูกกินได้
และคงให้น้ำนมแม่ต่อได้อย่างปลอดภัยไม่ว่า แม่ ลูก หรือทั้งแม่และลูกได้รับยารักษาวัณโรค ยารักษาวัณโรคทั้ง INH, Rifampicin ,pyrazinamide , ethambutol, aminoglycoside, ได้มีการใช้อย่างปลอดภัยในทารก การที่จะมียาเหล่านี้เล็กน้อยในน้ำนมจึงไม่ใช่ข้อห้ามในการให้นมแม่ ( อ้างอิงจาก หน้า 422 หนังสือ Breastfeeding : a guide for the medical profession Ruth A Lawrence 2011)
การที่เด็กอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ เด็กมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย เพราะ เชื้อวัณโรคจะล่องลอยอยู่ในอากาศได้นาน เป็นอนุภาคเล็กๆฟุ้งกระจายอยู่ ยิ่งใกล้ชิดมากเช่น นอนห้องเดียวกัน โอกาสรับเชื้อก็สูงขึ้น
เมื่อเด็กรับเชื้อเข้าไปแล้ว อาจจะยังไม่มีอาการใดๆเลยก็ได้ อาจใช้เวลา 1 -2 ปีกว่าจะมีอาการแสดงออกมา ความเสี่ยงของเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่ติดเชื้อแล้ว และโรคดำเนินต่อไปเป็นวัณโรคใน 1-2 ปีแรก มีควาเสี่ยงสูงถึง 40-50 %( แปลง่ายๆ สมมุติเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี 100 คน รับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว ในเวลา 1-2 ปีต่อมา จะมีเด็ก 40- 50 คนที่จะกลายเป็นวัณโรค) นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องให้ยาป้องกันในเด็กกลุ่มนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีอาการใดๆ