ปัญหาการดูดนมของลูก

วิธีรับมือ…เมื่อลูกกัดหัวนมแม่

22 มิถุนายน 2017
แชร์ให้เพื่อน

วิธีรับมือ…เมื่อลูกกัดหัวนมแม่

[seed_social]
[seed_social]

1. ระหว่างที่ลูกกำลังดูดนม ให้ดึงความสนใจของลูกมาที่ตัวแม่ โดยการจ้องตา ลูบไล้ลูก หรือคุยกับลูก

2. เตรียมวางนิ้วมือไว้ใกล้ๆ ปากลูก เมื่อเวลาลูกกัด ก็รีบสอดนิ้วเข้ากันไม่ให้กัดหัวนม

3. เมื่อถูกกัดอย่าดึงลูกออกทันที หัวนมจะถูกดึงและลูกจะกัดแรงขึ้น

4. ถ้าลูกกัดหัวนมให้ดันศีรษะลูกเข้าชิดกับเต้านม เพื่อให้หายใจไม่สะดวก หรือบีบจมูกลูกเบาๆ เพื่อให้อ้าปากคายหัวนมออก

5. แสดงปฏิกิริยาให้รู้ว่าแม่เจ็บ แม่ไม่ชอบ เช่น ดุลูก บอกให้ลูกรู้ว่ากำลังทำให้แม่เจ็บ ถ้าไม่ได้ผล ให้ปิดเสื้อไม่ให้ดูดต่อ เอาลูกออกจากเต้าโดยใช้นิ้วมือสอดเข้าที่มุมปากลูก และวางลูกลง ให้ลูกเรียนรู้ปฏิกิริยาในทางลบของแม่ เมื่อรู้ว่าถูกลงโทษ ลูกก็จะไม่ทำอีก

6. เมื่อลูกดูดโดยไม่กัดนมแม่ ก็ให้รางวัลโดยการพูดชม กอดหรือจูบลูก ซึ่งลูกจะเรียนรู้ได้

7. เด็กบางคนจะกัดเวลาง่วง บางคนกัดเวลาหิว บางคนกัดเวลาอิ่ม บางคนกัดเวลาหลับ ให้สังเกตพฤติกรรมของลูกและเลือกเวลาให้นมที่ปลอดภัย

8. เด็กบางคนจะกัดเมื่อน้ำนมไม่ไหลในขณะยังไม่อิ่ม ดังนั้นคุณแม่ควรพยายามกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น โดยให้ลูกดูดบ่อยๆ และคุณแม่ดื่มน้ำและกินอาหารให้พอ

9. เมื่อลูกหลับ ให้เอาลูกออกจากเต้า อย่าปล่อยคาไว้ ถ้าลูกร้อง ก็ปลอบโยน กอดลูกให้รู้สึกอบอุ่นใจ

10. หาอย่างอื่นให้ลูกกัดแทน เช่น ของเล่นชนิดยางที่กัดได้ อาหารที่เหมาะสมกับวัย (ขนม ผัก ผลไม้ที่แข็งหน่อย เช่น ขนมปังกรอบ คุกกี้ แอปเปิ้ล )

การแก้ไขหัวนมแตกเนื่องจากถูกกัด

ให้คุณแม่บีบน้ำนมทาหัวนม ปล่อยให้แห้งโดยไม่สวมเสื้อทับ น้ำนมจะช่วยสมานแผลให้หายเร็ว อย่าใช้ครีมทา และไม่ใช้สบู่ล้างหัวนม ซึ่งจะทำให้ผิวแห้งแตกง่าย

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
การบีบน้ำนมจากเต้าด้วยมือ
โรคหัดกุหลาบ (ส่าไข้)
"จี๊ด" - วิธีกระตุ้นให้น้ำนมไหลมาเทมา