เป็นปัญหาที่พบบ่อยในคุณแม่มือใหม่ มักเกิดจากลูกอมงับเต้านมไม่ลึกพอ อมได้เพียงหัวนม เหงือกของลูกกดที่หัวนมและลิ้นถูไปมาบริเวณปลายหัวนมทำให้หัวนมเจ็บและเป็นแผลได้
สาเหตุ
1. แม่อุ้มท่าให้นมไม่ถูกวิธี
2. แม่ใช้นิ้วมือกดใกล้ๆ ขอบลานนมไว้ขณะลูกดูดนมเพราะเกรงลูกจะหายใจไม่ออก ลูกจึงอมงับได้ไม่ลึก
3. เต้านมแม่คัดมาก ทำให้ลานนมตึงแข็งจนลูกอมได้ไม่ลึกพอ
4. การถอนหัวนมออกจากปากลูกไม่ถูกวิธี ดึงหัวนมออกจากปากลูกในขณะที่ลูกดูดนมอยู่ แรงดูดของลูกจะทำให้ผิวหนังแตกเป็นแผลได้
5. ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น แลบลิ้นออกมาได้น้อย ไม่ถึงใต้ลานนมจึงดูดได้แค่หัวนม
6. เกิดจากการติดเชื้อที่หัวนม ทำให้เกิดแผลอักเสบ
ภาพหัวนมแตก
การแก้ไขปัญหาหัวนมแตก
ก่อนให้นมลูก
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย จะทำให้การหลั่งน้ำนมดีขึ้น
- แก้ไขการอมหัวนมให้ถูกต้อง หรือรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ถ้าลูกมีพังผืดใต้ลิ้น หัวนมติดเชื้อ ก็ควรปรึกษาแพทย์
ขณะให้นมลูก
- ให้เริ่มให้นมข้างที่ไม่แตกหรือเจ็บก่อนเสมอ เพราะเมื่อลูกเริ่มดูดนม ลูกจะดูดแรง ถ้าให้ดูดข้างที่เป็นแผลก่อน แผลจะยิ่งเป็นมากขึ้น
- ลองเปลี่ยนท่าอุ้มให้ลูกดูดนม เช่น ท่าอุ้มฟุตบอล ท่านอน เมื่อลูกเปลี่ยนท่า มุมที่เข้าเต้าจะเปลี่ยน ทำให้ไม่ดูดทับแผลเก่าที่เป็นอยู่
- รอให้ลูกอ้าปากกว้างที่สุด แล้วค่อยส่งลูกเข้าเต้าเพื่อให้ลูกอมลานนมให้ลึก (ดูได้จากวิดีโอ)
- แก้ปัญหาเต้านมคัด (ดูในหัวข้อเต้านมคัด) จากนั้นให้ลูกดูดนมบ่อยๆ อย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง
- เมื่อลูกดูดนมแม่อิ่ม ส่วนใหญ่ลูกจะหลับและคายปากออกจากเต้าเอง แต่ถ้าต้องการถอนนมออกจากปากขณะที่ลูกยังงับเต้านมอยู่ ให้ใช้นิ้วมือสอดเข้าที่มุมปากให้นิ้วอยู่ระหว่างเหงือกของลูกเพื่อลดแรงดูดของลูก จากนั้นจึงค่อยๆ ถอนหัวนมออกมา
หลังจากให้นม
- บีบน้ำนม 2- 3 หยดทาบริเวณหัวนม ทิ้งไว้ให้แห้งก่อน จะช่วยสมานแผลได้ดี ไม่จำเป็นต้องทาครีมหรือยาอื่น ๆ
- อาจจะใช้ประทุมแก้วครอบหัวนมเพื่อป้องกันการระคายเคืองจากการสัมผัสกับเสื้อชั้นใน
- กรณีที่แม่รู้สึกจ็บมากขณะให้นมลูก
- ควรงดให้นมข้างที่เจ็บไว้ก่อน 1-2 วันหรือจนกว่าแผลจะดีขึ้น
- บีบน้ำนมออกทุก ๆ 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเต้านมคัดและป้อนนมที่บีบไว้ให้ลูกกินจากถ้วย
- ถ้าหายช้าควรปรึกษาแพทย์