รู้ก่อนให้นมแม่

อย่าแยกแม่ลูกหลังคลอด

08 ธันวาคม 2017
แชร์ให้เพื่อน

อย่าแยกแม่ลูกหลังคลอด

[seed_social]
[seed_social]

อย่าแยกแม่ลูกหลังคลอด

 

คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกไปไม่นานยังจำประสบการณ์ช่วงหลังคลอดใหม่ๆได้ไหมคะ

วินาทีแรกที่เราได้สัมผัสลูก ผิวเ นื้อนิ่มของลูกที่สัมผัสกับผิวของเราเป็นครั้งแรก ให้ความรู้สึกอย่างไรบ้างคะ?

นี่คือเวลาที่แม่รอคอยมาตลอดไม่ใช่หรือ ตอนอยู่ในท้อง แม่ส่งอาหาร พร้อมความรักผ่านทางรกและสายสะดือ
เมื่อคลอดออกมา สายสะดือถูกตัดขาด แต่สายใยสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกไม่ได้ขาดสะบั้นไปด้วยค่ะ

สองแม่ลูกพร้อมจะสานต่อสัมพันธ์ด้วยพลังรักผ่านสัมผัส และน้ำนมอุ่น
ช่วงเวลาหลังคลอดใหม่ๆนี้ เปรียบได้กับช่วงเวลาอันศักสิทธิ์ ที่แม่ลูก จะทำความรู้จักกัน เห็นหน้าเห็นตากันเสียที หลังจากลูกคุดคู้อยู่ในท้องแม่มานานถึง 9 เดือน

อยากให้แม่ลูกทุกคู่ ได้มีโอกาสอันดีนี้ที่จะได้สัมผัสกันและกัน ดวงตาที่แจ่มใสของลูกพร้อมที่จะจ้องมองด้วยความสนใจในสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งคือหน้าท้อง หน้าอก และ เต้านมแม่ค่ะ
ตอนลูกอยู่ในท้อง แม่ลูกทำอะไรก็ทำไปพร้อมๆกัน เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว ลูกก็อยากที่จะมีวงจรการใช้ชีวิตคล้ายๆที่เคยอยู่ในท้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนเดิม

จัดโอกาสให้แม่ลูกได้ใช้เวลาด้วยกันเถอะค่ะ อย่าเพิ่งไปแยกแม่ลูกออกจากกันเลย

Gallagher เขียนไว้ในหนังสือ Motherless Child ว่า “ แม่ลูกที่อยู่ด้วยกันในท้อง อยู่ในสภาวะทางชีววิทยาที่ใกล้เคียงกับการเสพติด มีการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน เมื่อมีการแยกจากกัน ทารกไม่ได้เพียงแต่คิดถึงแม่เท่านั้น แต่ทารกอยู่ในสภาพเหมือนกับถอนยาเสพติด ตัดขาดจากสิ่งที่เคยได้รับทั้งทางกายภาพ และทางจิตใจ “
หลังคลอดทารกเสมือนถูกทิ้งให้เคว้งคว้าง ไม่มีมดลูกที่เคยให้ความอบอุ่นปลอดภัย จึงอยากจะไขว่คว้าหาที่อยู่ที่คุ้นชิน ไม่แปลกใจที่เราจะเห็นทารกร้องไห้จ้าเมื่อถูกแยกจากแม่ นั่นเพราะ เขารู้สึกว่า ชีวิตเขาจะไม่ปลอดภัยเสียแล้วค่ะ เมื่อแม่ที่เคยอยู่ด้วยกันมาตลอด อยู่ๆก็หายไป ไม่ได้ยินเสียงหัวใจแม่ที่คุ้นเคย ไม่มีอกอุ่นให้อิงแอบ ทารกจึงร้องตามสัญชาติญาณ เพื่อเรียกให้แม่ได้ยินและกลับมากกกอดกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด จะร้องเสียงดัง และขยับแขนขา เพื่อให้แม่กลับมาปกป้องจากสัตว์ที่เป็นนักล่าอื่นๆ

บางคนอาจจะคิดว่าการร้องไห้สิดี ปอดจะได้เปิด แต่จริงๆแล้วการร้องไห้แบบแผดเสียงแปดหลอด ไม่มีผลดีต่อการทำงานของปอด ทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเครียดให้กับทารกมากกว่า
Dr. Christenssen จาก Stockholm, Sweden รายงานใน Acta Pediatrica ในปี 1992 ว่า ทารกกลุ่มที่แยกจากแม่ มีจำนวนครั้งของการร้องไห้มากกว่าทารกที่นอนอยู่กับตัวแม่ถึง 4 เท่า และระยะเวลาที่ร้องไห้ยาวนานมากกว่ากันถึง 40 เท่า

เมื่อมีการแยกจากกันนานๆเข้า ทารกที่เคยร้องๆก็จะหยุดร้องแล้ว คงจะเหนื่อยด้วย และหมดหวังที่จะได้แม่กลับมาแล้ว ที่เคยยกแขนขาก็หยุด และกลับนอนอยู่เฉยๆ ซึ่งก็เป็นสัญชาติญาณที่ติดมาแต่ดั้งเดินเช่นกัน เพราะ เขารู้ว่าถ้าแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ขืนร้องดังๆต่อไป จะมีแต่ศัตรูที่จะเข้ามาจู่โจมทำร้าย ทารกจึงนอนนิ่งมากและแทบจะไม่ขยับ เป็นวิธีที่จะเอาตัวรอดค่ะ ร่างกายจะใช้พลังงานน้อยลง อุณหภูมิร่างกายก็ลดต่ำลง หัวใจเต้นช้าลง
การที่ทารกดิ้นต่อสู้ขัดขืน ไม่มีอันตรายต่อสมอง เว้นแต่ว่า ทำบ่อยๆ หรือซ้ำๆกัน จนเข้าสู่ภาวะหมดหวัง หงอย จึงจะมีอันตรายต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตค่ะ

จะเห็นว่า ความสำคัญของการที่แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันตั้งแต่แรกคลอด ผิวสัมผัสผิว คือการที่แม่ลูกสานต่อความสัมพันธ์ที่เริ่มตั้งแต่ทารกอยู่ในท้อง แม่ลูกเสมือนหนึ่งเป็นคนคนเดียวกัน และส่งผลถึงการเจริญพัฒนาของสมองลูกด้วยค่ะ

เรามาช่วยกันสนับสนุน “ไม่ให้แยกแม่ลูก” หลังคลอดกันเถอะค่ะ
References
1.Gallagher W . Motherless Child , The Sciences , July/August 1992 :p. 12-15
2. Christenssen K., Siles C., Moreno L. et al Temperature Metabolism adaptation and crying in healthy full term newborn cared for skin to skin or in a cot . Acta Paediatr, 1992 , 488-493

บทความที่เกี่ยวข้อง
ควรจะให้นมแม่แก่ลูกน้อยไปนานเท่าไร
การให้นมแม่ ดั่งสะพานประสานใจ
กระเพาะอาหารของลูกแรกเกิด ในวันแรกมีขนาดใหญ่เท่าไร?