ต่างประเทศ

ฮอร์โมนแห่งความรัก

21 มิถุนายน 2017
แชร์ให้เพื่อน

ฮอร์โมนแห่งความรัก

[seed_social]
[seed_social]

“ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ฉันเฝ้าดูปากน้อยๆดูดดื่มน้ำนมจากเต้า

วันแล้ววันเล่าที่ฉันเฝ้าอุ้มเจ้าแนบอก กลิ่นกายหอม เนื้อเจ้าช่างนิ่มนวล

เดือนแล้วเดือนเล่าที่ฉันเฝ้าทนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูโดยมิเบื่อหน่าย

อะไรกันเล่าที่ทำให้แม่ตกหลุมรักเจ้าอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเช่นนี้”

ความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างแม่กับลูก เป็นสิ่งที่ค่อยๆก่อร่างสร้างตัวขึ้นทีละน้อย ตั้งแต่ช่วงหลังคลอดที่แม่ลูกได้พบกัน ลูกเริ่มไซ้หาเต้านม ทำความคุ้นเคยกับแหล่งอาหารใหม่ ที่มีน้ำนมอุ่น เสริมด้วยความรักอันอ่อนโยน แม่ลูกค่อยๆค้นพบตัวตนของกันและกันผ่านผิวสัมผัสบนหน้าอกของแม่นี้

ความเป็นแม่เกิดขึ้นที่นี่ สายสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องจากในครรภ์ คือสายน้ำนมแม่นี่เอง นมแม่มิใช่เป็นเพียงแค่อาหารแต่นมแม่นำความอบอุ่น ผ่อนคลายมาให้คู่แม่ลูก ผ่านทางขบวนการธรรมชาติ การที่แม่ลูกคู่หนึ่งถูกดึงดูดเข้าหากัน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ร่างกายของเราได้สร้างขบวนการรองรับการผูกสัมพันธ์นี้ไว้แล้วค่ะ

เมื่อแม่เริ่มเจ็บท้องเข้าสู่ระยะคลอด จะมีฮอร์โมนตัวหนึ่งหลั่งออกมาสู่กระแสเลือดของแม่ เพื่อส่งตรงไปสู่มดลูกของแม่ซึ่งจะมีตัวรับคอยดักจับฮอร์โมนนี้ไว้ ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกมีการหดตัวบีบเป็นระยะๆ เพื่อผลักดันลูกออกสู่โลกภายนอก

ฮอร์โมนนี้ผลิตขึ้นในสมองส่วน hypothalamus ส่งเข้าสู่กระแสเลือด และยังทำหน้าที่ ส่งสัญญาณประสาทภายในสมองเองด้วย โดยเซลล์ประสาทที่มีสารนี้ จะแผ่ออกไปเชื่อมประสานกันเป็นร่างแห ส่งสารนี้ออกไป ทำให้เกิดผลต่อร่างกายหลายอย่าง โดยรวมทำให้ความดันเลือดลดลง เส้นเลือดขายตัว ลดอาการเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

ฮอร์โมนนี้มีชื่อว่า อ๊อกซิโทซิน (Oxytocin) หรือ เรียกกันว่า ฮอร์โมนแห่งความรัก ค่ะ

ฮอร์โมนแห่งการประสาน (co ordination)

เอกลักษณ์โดดเด่นของอ๊อกซิโทซิน ที่แตกต่างจากสารอื่นๆในร่างกายของเรา คือการทำงานที่สอดรับ คล้องประสานไปในแนวเดียวกัน ประหนึ่งวงดนตรีออเคสตรา ที่มีอ๊อกซิโทซินเป็นวาทยากร

ทำไมฮอร์โมนตัวเดียวแต่มีผลมากมายทั่วร่างกายได้เช่นนี้

ทั้งนี้เนื่องจาก อ๊อกซิโทซิน เป็นทั้งฮอร์โมนที่ส่งไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายทางกระแสเลือด และ เป็นทั้ง neurotransmitter สารส่งสัญญาณในสมองด้วย โดยอ๊อกซิโทซินในทั้งสองระบบนี้ จะไปจับที่ ตัวรับพิเศษ ( oxytocin receptor) ทีมีอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ทำให้มีผลหลากหลายขึ้นกับแต่ละอวัยวะ

ฮอร์โมนดาวเด่นแห่งการให้นมแม่

เรารู้จักฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินเป็นครั้งแรก ในแง่มุมของการดูดนมแม่ มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับฮอร์โมนนี้ในช่วงหลังคลอด เมื่อมีทารกมาดูดนมที่เต้าแม่ มีการตอบสนองเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ การส่งสัญญาณประสาทผ่านไขสันหลัง ไปยังสมองส่วน hypothalamus ซึ่งมีกลุ่มเซลล์อยู่ 2 กลุ่ม กระตุ้นทำให้มีการหลั่ง อ๊อกซิโทซินเข้าสู่กระแสเลือด ส่งไปยังเซลล์ กล้ามเนื้อmyoepithelium ที่ล้อมรอบต่อมผลิตน้ำนม ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและบีบไล่น้ำนมออกไป

ทารกที่วางอยู่บนอกแม่และพยายามจะขยับเขยื้อนตัว ใช้มือไขว่คว้าบนเต้านม ถือเป็นการนวดและกระตุ้นการหลั่งอ๊อกซิโทซินไปด้วยในตัวค่ะ ปากลูกที่ดูดนมแม่ก็ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกมาเป็นระลอกๆ บีบกล้ามเนื้อเล็กๆรอบต่อมผลิตนมให้หดตัวไล่น้ำนมออกมาเป็นระยะๆเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้อ๊อกซิโทซินยังทำให้เส้นเลือดบริเวณเต้านมขยายตัว นับเป็นเครื่องทำความอุ่นอย่างดีให้กับลูก ปลายมือปลายเท้าลูกจะอุ่น และมีสีชมพู

จากการศึกษาในหนูทดลอง ขณะที่ดูดนมแม่พบว่าแม่หนูจะนอนนิ่งสงบ ส่วนใหญ่จะนอนหลับด้วยซ้ำ เมื่อเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนที่ทำให้เครียด (cortisol) พบว่ามีระดับลดลง และความดันเลือดลดลง ในคนก็พบเช่นเดียวกัน แม่ลูกจะนอนกกกอดหลับไปด้วยกัน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้คงอยู่แค่ระยะสั้นๆ แต่มีผลระยะยาวตลอดการให้นมแม่ทีเดียว พบว่า แม่ที่ให้นมลูก จะมีความมั่นคง สงบ ไม่ถูกเร้าโดยสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ งานการสิ่งอื่นๆเก็บไว้ก่อน ขณะนี้ขอเพียงได้อยู่ใกล้ๆลูก ส่วนใหญ่แม่จะไม่เบื่อที่จะต้องอุ้มลูกขึ้นมาดูดนมแทบจะตลอดเวลา และแม่ไม่คิดว่าการให้นมลูกเป็นการเสียเวลา

ในงานวิจัยของ Dr. Moberg (1)พบว่า ยิ่งแม่นิ่งสงบมากเท่าไร จำนวนระลอกของอ๊อกซิโทซินที่หลั่งออกมาในแต่ละมื้อนม ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นั่นคือ แม่ยิ่งสงบ ยิ่งทำให้มีการบีบตัวไล่น้ำนมออกจากเต้าได้ดีมากขึ้น

อ๊อกซิโทซินที่หลั่งออกมาในช่วงนี้ ทำให้แม่ สงบลง “ลดทอนความเครียดจากขบวนการเกิด” และที่น่าประหลาดอีกอย่างคือ ฮอร์โมนนี้ สามารถเปลี่ยนความทรงจำที่ไม่ดีให้กลับกลายเป็นดีได้ด้วย ลองไปถามแม่ที่เพิ่งคลอดเองดูก็ได้ค่ะ ว่าจำได้ไหมว่าเจ็บปวดแค่ไหน ส่วนใหญ่จะเบลอๆ จำไม่ค่อยได้ว่าเจ็บ และบอกว่าการคลอดก็ไม่ค่อยน่ากลัว เพราะ ความทรงจำแย่ๆถูกบดบังด้วยผลของอ๊อกซิโทซินนี่เอง

ผลของอ๊อกซิโทซินไม่ได้มีเฉพาะช่วงสั้นๆหลังคลอด แต่มีผลระยะยาวด้วย แม่ที่ได้อยู่กับลูกใกล้ชิด อุณหภูมิของร่างกายแม่จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามอุณภูมิของลูก คือ ถ้าลูกตัวเย็นแม่ก็จะปรับตัวเองให้ร้อนขึ้นเพื่อให้ลูกอบอุ่น ความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น ความเครียดน้อยลง แม่ลูกมีความสงบ ความดัน และชีพจรช้าลง ผลโดยรวมคือ ความสัมพันธ์แม่ลูกที่ดี และ ลูกมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น

Reference

1. Uvnas Moberg, K et al. Personality traits in women 4 days postpartum and their correlation with plasma levels of oxytocin and prolactin Journal of Obstetrics and Gynaecology 1990 : 11 261-273)

2. The Oxytocin Factor, Tapping the Hormone of Calm , Love and Healing . Kerstin Uvnas Moberg

Chapter 8 : Nursing – Oxytocin Starring Role p. 75-81

พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
โปรดอย่าแยกแม่ลูกหลังคลอด
การใช้อาหารทดแทนนมแม่ในทารก เป็นการทดลองที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปราศจากกลุ่มควบคุม