เป็นลักษณะของท่อน้ำนมอุดตัน (blocked duct) จะเป็นก้อนไตแข็งๆ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านม โดยไม่ได้เป็นทั้งเต้า เมื่อกดลงไปจะรู้สึกเจ็บและอาจบวมแดง แต่ไม่มีไข้
สาเหตุ
ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันเป็นเพราะน้ำนมบริเวณนั้นข้นมากจนทำให้ไหลไม่สะดวกและอุดตันคั่งค้างอยู่ในท่อน้ำนมท่อใดท่อหนึ่ง น้ำนมส่วนที่เหนือจุดที่อุดตันขึ้นไปจะคั่งจนเกิดเป็นก้อนไตแข็งๆ อาจเกิดจาก
- ให้ลูกดูดนมไม่บ่อยพอ
- ระบายน้ำนมออกจากเต้าไม่หมด
- ผลจากแรงกดทับเต้านม อาจเกิดจากการสวมเสื้อชั้นในที่คับเกินไป นอนตะแคงทับข้างนั้นนาน เป็นต้น
- เต้านมใหญ่หย่อนยาน ทำให้ส่วนล่างระบายน้ำนมออกไม่ได้ดี
การแก้ไข
- ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัดประมาณ 3 – 5 นาที ก่อนให้นมลูก
- ให้ลูกดูดจากเต้าที่มีปัญหาก่อน เพื่อระบายน้ำนมออกจากท่อน้ำนมให้มากขึ้น
- จัดท่าให้นมโดยให้คางลูกชี้ไปบริเวณที่เป็นก้อน เพื่อให้ลิ้นของลูกรีดน้ำนมส่วนนั้นออกได้ดี
- ขณะลูกกำลังดูดนม ให้นวดเบาๆเหนือบริเวณที่อุดตัน ไล่ลงไปถึงหัวนม เพื่อดันก้อนที่อุดตันออก
- จัดให้ลูกดูดนมในท่าต่างๆ กันในแต่ละมื้อ เพื่อระบายน้ำนมจากส่วนต่างๆ ของเต้านมได้ดีขึ้น
- นำลูกมาดูดนมบ่อยๆ ทุกๆ 2 – 2½ ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น โดยเฉพาะขณะที่ลูกหิวจัดจะดูดได้แรง ให้ดูดนานอย่างน้อยข้างละ 15 – 20 นาที และหลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จ ให้บีบน้ำนมออกเพื่อระบายน้ำนมเพิ่ม จะช่วยให้หายเร็วขึ้น
- ถ้าปวดมาก กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลได้
- ตรวจสอบเสื้อชั้นในว่ารัดเกินไปหรือไม่ เลือกที่ให้ใส่ได้พอดี และขอบไม่กดทับเต้านม
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงควรปรึกษาคลินิกนมแม่
หมายเหตุ
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก พญ.ปิยาภรณ์
- เคยมีคนจีนที่อายุมากแล้วแนะนำให้ใช้หวีที่ซี่ใหญ่หน่อย กดรีดลงมาทางหัวนม เขาว่าจะช่วยดันก้อนน้ำนมได้เหมือนกัน
- มีคนเคยลองใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า อาศัยแรงสั่นของมันช่วยให้ดีขึ้นได้
- คุณหมอ Ruth Lawrence ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญนมแม่ที่อาวุโสมาก เธอเรียกว่า plugged duct หมายถึงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปอุดอยู่ในท่อน้ำนม คุณแม่บางคนที่กินอาหารที่มีแคลเซียมมาก พบว่าก้อนที่หลุดออกมามีลักษณะเหมือนตะกอนทรายสีขาว คุณแม่บางคนที่เธอเคยตรวจรักษาเนื่องจากมีก้อนแบบนี้หลายครั้ง ก้อนที่ออกมามีลักษณะเป็นตะกอนไขมัน เมื่อให้ลดอาหารไขมันประเภท polyunsaturated fat (ไขมันไม่อิ่มตัว) และให้กิน lecithine เพิ่มสักหน่อย (เป็นน้ำมันประเภทหนึ่งซึ่งใช้ใส่ในผักสลัดก็ได้ ) ก็ไม่ใคร่เป็นอีก
ความเห็นเพิ่มเติมจาก พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
การที่มีไขมันอุดตันท่อน้ำนมบ่อยๆ ก็ต้องดูว่าท่าที่เราอุ้มลูกดูดนมนั้น ถนัดไหม เหงือกอาจจะกดตรงตำแหน่งเดิมๆ ส่วนที่อื่นไม่ถูกกด น้ำนมไม่ถูกรีดออกจากท่อ ก็ทำให้ท่ออุดตันง่าย ลองเปลี่ยนท่าอุ้มบ้าง เพื่อให้ลูกใช้เหงือกกด และลิ้นรีดน้ำนมออกจากตำแหน่งที่ต่างๆกันไปบ้าง ก็น่าจะป้องกันการอุดตันได้
วิธีแก้ไขเมื่อมีอาการเต้านมอักเสบเป็นไต
เขียนโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
เมื่อมีอาการบ่งบอกว่าเป็นเต้านมอักเสบ นมมีก้อนแข็งควรปฎิบัติดังนี้
1.อย่าหยุดให้นมข้างที่เป็น เพราะกลัวว่าลูกจะกินไม่ได้
ความจริงคือ ต้องให้ลูกดูดเป็นข้างแรกเสมอ ดูดให้บ่อยขึ้น ปั๊มให้บ่อยขึ้น นมที่ปั๊มอย่าทิ้ง เก็บได้ตามปกติ
ให้คางลูกอยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นก้อน อาจต้องตีลังกาดูด ถ้าก้อนอยู่ด้านบน
ให้พ่อแปรงฟันให้สะอาด ลองช่วยดูดดู
2.การประคบอุ่นหรือร้อน ด้านนอก อาจไม่ช่วยอะไรมาก เพราะเป็น superficial heat
แต่ไม่เสียหายที่จะลองทำดู วิธีที่ได้ผลคือ deep heat โดยการทำอัลตราซาวด์
3.ต้องใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมงแล้ว ไม่เช่นนั้น อาจพัฒนาจนกลายเป็นฝีได้
ยาแก้อักเสบที่ใช้ ไม่มีปัญหากับการให้นม เช่น dicloxacillin ถ้าแพ้เพนนิซิลลิน ให้ใช้ clindamycin
4.ถ้ามี white dot ที่หัวนม ถ้าให้ลูกดูดขณะหิวจัดแล้วไม่หลุด ให้ใช้เข็มสะอาดอันใหญ่ๆจิ้มให้หลุด (เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรปรึกษาคลินิกนมแม่ถึงวิธีที่ถูกต้องและปลอดเชื้อ)
5.ถ้าเป็นฝีแล้ว ห้ามให้หมอกรีดแผลเด็ดขาด ขอลองให้ใช้เข็มเบอร์ใหญ่ พยายามดูดออกให้หมด อาจดูดซ้ำหลายๆครั้ง และยาแก้อักเสบให้เปลี่ยนเป็นชนิดฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าเส้นเลือดก็ได้ และห้ามหยุดให้นมลูกเด็ดขาด เมื่อคุณไม่มีแผลที่เต้า คุณก็ไม่เจ็บเวลาดูด
ถ้ากรีดเป็นแผลแล้ว จะลงเอยด้วยการที่น้ำนมจะรั่วออกทางแผลตลอดเวลา ทำให้แผลไม่ปิด แล้วในที่สุด ต้องใช้ยาหยุดน้ำนม ที่ชื่อ parlodel
หวังว่า ต่อไปนี้จะไม่มีกรณี ที่ต้องผ่าฝีที่เกิดจากท่อน้ำนมอุดตันเกิดขึ้นอีกต่อไปค่ะ