เครือข่ายสถานประกอบการ

เวที สร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่ ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางธุรกิจ

26 สิงหาคม 2017
แชร์ให้เพื่อน

เวที สร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่ ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางธุรกิจ

[seed_social]
[seed_social]

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดงาน “สร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่”ภายใต้โครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว หนุนเสริมให้สถานประกอบการและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเพิ่มผลลัพธ์ทางธุรกิจ ด้วยการสรรค์สร้าง “ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว”ภายในองค์กร ในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เวลา 09.00 – 12.00 ณ ห้องประชุม แกรนด์ C ชั้น 4โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ      

แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยกล่าวว่า โครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของหญิงทำงานให้มีสวัสดิการมุมนมแม่ ซึ่งผลลัพธ์ปลายทางของการจัดทำมุมนมแม่ภายในองค์กร ช่วยขยายผลทางธุรกิจของภาคเอกชน ด้วยการลดอัตราการลาออกของพนักงาน ลดอัตราการลางาน ลดค่าใช้จ่ายการเบิกค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนเพิ่มความจงรักภักดี และทัศนคติที่ดีของพนักงานในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

           “ภายในงานสร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่ ได้เชิญบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล กว่า 60 แห่งเข้าร่วมงาน เพื่อรับรู้ถึงผลสำเร็จของโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว  และงานเสวนาเรื่อง “สร้างงานดี ชีวีมีสุข” ได้อย่างไร” แพทย์หญิงศิริพรกล่าว

           สำหรับงานเสวนา เรื่อง“สร้างงานดี ชีวีมีสุข” (ด้วยนมแม่) ได้อย่างไร? วิทยากร ได้แก่ คุณอุดม เสถียรภาพงษ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯ, คุณอนุรักษ์ นภาวรรณ ผู้จัดการ บริษัท อินทราเซรามิค จำกัด, คุณนันท์นภัส เสรีวรโชติ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เดลต้าอีเล็กโทรนิกส์ฯ จำกัด, คุณภัสธารีย์ จิตธนสิทธิ์ ประธานแม่อาสา บริษัท สยามเดนโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และ แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

           คอนเซ็ปต์ของการจัดงาน “สร้างงานดี ชีวีมีสุข”เพื่อไขคำตอบว่า การจัดตั้งมุมนมแม่จะสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้ การจัดทำมุมนมแม่ในองค์กรต่างๆ ได้ขยายผลให้เป็น “ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพชีวิตด้วยมุมนมแม่”ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของหญิงทำงาน ซึ่งเป็นแรงงานหลักในภาคอุตสาหกรรม เมื่อคุณภาพชีวิตของหญิงทำงานได้รับการเอาใจใส่และพัฒนาสูงขึ้น จะส่งผลให้คุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานสูงขึ้นเช่นกัน

           ทั้งนี้ เครื่องมือในการวัดผลสำเร็จของการจัดตั้ง “ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว” คือ เครื่องมือ ROIย่อมาจาก Return of Investment หรือ หลักพื้นฐานของผลตอบแทนต่อการลงทุน ที่ได้จากการคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วยการลงทุนจัดตั้งมุมนมแม่ จัดทำโดย ผศ. ดร. จิราภรณ์ ระโหฐาน รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นับว่าการใช้เครื่องมือ ROI ในครั้งนี้เป็นก้าวแรกของการยกระดับการจัดตั้งมุมนมแม่ที่สามารถให้คำตอบผลลัพธ์ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันนี้ บริษัทเอกชนที่ได้จัดตั้งมุมนมแม่ต้นแบบ ได้นำเครื่องมือ ROI ไปใช้วัดผลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการจัดตั้งมุมนมแม่ภายในบริษัท

นางนันท์นภัส เสรีฐิติวรโชติ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เดลต้าอิเล็กโทรนิกส์ จำกัดกล่าวว่า การใช้เครื่องมือ ROI วัดผลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการจัดตั้งมุมนมแม่ พบผลความคุ้มค่าสูงหลายเท่าของเงินลงทุนในการจัดตั้งมุมนมแม่ ซึ่งเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ทำให้บริษัทลดการสูญเสียค่าใช้จ่าย (ทางอ้อม) ในการลดอัตราการจ้างงานใหม่, การฝึกอบรมพนักงาน, การได้ผลกำไรจากการที่พนักงานงดการลากิจและลาป่วย ดังนั้น บริษัทจะสูญเสียผลประโยชน์ 3,751,500 บาท จากการไม่จัดตั้งมุมนมแม่

“คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีสุขภาพแข็งแรง พนักงานสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงให้ลูก 4,000 บาท ต่อ เดือน ชีวิตครอบครัวอบอุ่นและมีความสุข ทำให้ศักยภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลฝ่ายทรัพยากรบุคคล พบว่า หลังจากมีการจัดตั้งมุมนมแม่ บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการหาคนทดแทนลาออก และ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้มาก ส่งผลให้พนักงานกลุ่มที่รับสวัสดิการจากการจัดตั้งมุมนมแม่ มีทัศนคติที่ดีและมีความจงรักภักดีต่อองค์กร” นางนันท์นภัส กล่าว

         การจัดตั้ง ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัว ภายในสถานประกอบการ จะเป็นการยกระดับสวัสดิการสำหรับพนักงาน ด้วยการส่งผลดีต่อพนักงานและองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจาก การจัดตั้งมุมนมแม่จะไม่ใช่เป็นเพียง “พื้นที่” ในการบีบเก็บนมแม่สำหรับหญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เป็นการ “ขยายผล” ในการจัดสวัสดิการพนักงาน ด้วยการนำ “นวัตกรรม”เครื่องมือ ROI เพื่อประเมินผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของพนักงานในองค์กร และผลประโยชน์ขององค์กรที่จะได้รับจากการจัดสวัสดิการในครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรม

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
บริษัท แมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมบางปู
การประชุมเครือข่ายสถาบันผลิตแพทย์ ภาคใต้
โรงพยาบาล-ชุมชน-ครอบครัว 3 เสาเข้มแข็ง ปิดประตูละเมิด CODE