พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
โรคมือ-เท้า-ปาก (HAND FOOT MOUTH)
คุณแม่รับน้องผึ้งมาจากโรงเรียน เพราะคุณครูที่ห้องพยาบาลตรวจพบว่าน้องผึ้งมีไข้ และแผลร้อนในที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม จึงแจ้งให้คุณแม่พามาพบหมอเพื่อตรวจว่าเป็นโรคฮิตที่ชอบระบาดตามโรงเรียนอนุบาลหรือไม่
โรคมือ-เท้า-ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด ดังนั้นจึงพบว่าอาจเป็นโรคนี้ได้หลายครั้งตลอดชีวิต เนื่องจากการเป็นโรคแต่ละครั้งจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการเป็นครั้งต่อไปที่จำเพาะกับไวรัสชนิดนั้นเท่านั้น ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเมืองไทยคือสายพันธุ์ Coxsackie A16 ซึ่งมักไม่มีความรุนแรงถึงชีวิต ต่างจากที่ระบาดในต่างประเทศ เช่นในไต้หวัน มาเลเซีย ที่พบสายพันธุ์ Enterovirus 71 เป็นชนิดที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย คือ สมองอักเสบ และเสียชีวิตได้
โรคนี้เป็นในคนเท่านั้น ไม่ใช่โรคเดียวกับปาก-เท้าเปื่อยที่พบในสัตว์กีบอย่าง วัว ม้า และแกะ
โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ และน้ำจากตุ่มที่ผิวหนัง หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสแล้วนำมือเข้าปาก มีระยะฟักตัว 3-7 วัน
เมื่อติดเชื้อผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นแผลในปากหลายจุด ทำให้เจ็บ ทานได้น้อย และน้ำลายไหล มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ไม่คันแต่อาจรู้สึกเจ็บ อาการไข้มักเป็นไม่เกิน 3 วัน ส่วนอาการเจ็บแผลในปากจะเป็นมากใน 3 วันแรก หลังจากนั้นจะเจ็บน้อยลงและเริ่มทานได้บ้าง พอครบ 7 วันแผลจะหายสนิทก็จะทานได้มากขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะขาดน้ำและพลังงาน ภาวะชักจากไข้สูง ควรพาลูกพบหมอ หากลูกมีอาการอ่อนเพลียมาก ทานได้น้อย มีภาวะขาดสารน้ำและพลังงาน หรือชักจากไข้สูง
การรักษา
- ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส
- ให้ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโปรเฟน เพื่อลดไข้หรือแก้ปวดแผลในปากและเช็ดตัว
- ให้ทานอาหารอ่อนนุ่ม รสไม่จัดเพราะจะเจ็บแสบแผล หากทานได้น้อย ลองให้ยาชาชนิดกลืนได้ (xylocaine viscus) ก่อนทานอาหาร หากลูกไม่ยอมดูดนมจากขวด เพราะจุกนมอาจชนถูกแผลทำให้เจ็บมาก ลองใช้วิธีจิบ หลอดดูด หรือช้อนป้อน หรือใช้หลอดฉีดยาป้อนแทน ให้ดื่มนมเย็น ทานพุดดิ้งหรือไอศกรีมเพื่อให้ได้พลังงาน ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่อุ่นร้อน หรือมีรสเปรี้ยวเช่นน้ำผลไม้บางชนิด หรือมีรสซ่าเช่นน้ำอัดลม เพราะจะเจ็บแผลมากขึ้น หากทานไม่ได้เลย อาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเป็นพลังงานทดแทน • ทำความสะอาดช่องปากด้วยการบ้วนปากหรือเช็ดปากด้วยน้ำเกลือครึ่งช้อนชาผสมน้ำ 1 แก้ว
- ไม่ให้ลูกไปโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเอามือเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดการใช้ของใช้และของเล่นร่วมกัน
- ทำความสะอาดสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัสด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของคลอรีน เพื่อทำลายเชื้อโรคที่ติดอยู่
หมอตรวจน้องผึ้งพบว่าเป็นโรคมือ-เท้า-ปากจึงให้การรักษาและแนะนำให้หยุดเรียนจนกว่าแผลและผื่นหายสนิท