พรบ.ควบคุม

โรงพยาบาล-ชุมชน-ครอบครัว 3 เสาเข้มแข็ง ปิดประตูละเมิด CODE

26 สิงหาคม 2017
แชร์ให้เพื่อน

โรงพยาบาล-ชุมชน-ครอบครัว 3 เสาเข้มแข็ง ปิดประตูละเมิด CODE

[seed_social]
[seed_social]

“ตำบลริมปิง” ตำบลต้นแบบนมแม่ ระดมความร่วมมือ โรงพยาบาล-ชุมชน-ครอบครัว สามารถรณรงค์สร้าง “วัฒนธรรมนมแม่ ปลอดนมผง” สำเร็จ เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน จากร้อยละ 52.38 เป็นร้อยละ 81.25

 

ตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็น 1 ใน 5 ตำบลแรกที่ได้รับคัดเลือกโดยสมัครใจจากกรมอนามัยให้เป็น “ตำบลต้นแบบ” ในการดำเนินงานโครงการ “ตำบลแม่เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัว” สนองต่อพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ

 

โครงการ “ตำบลนมแม่” เริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานบริการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำองค์กรชุมชน และสถานศึกษาในพื้นที่ร่วมจัดทำ “แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ตำบลนมแม่” ร่วมกับตำบลอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ

 

กระทั่งมีการจัดเวทีประชาคมตำบลนมแม่ ผลักดันประเด็นนมแม่เข้าสู่ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพตำบลริมปิง ฉบับที่ 1 พ.ศ.2553 เนื้อหาเรื่องการกำหนดให้หญิงหลังคลอดในตำบลริมปิงทุกคนควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลายเป็น “วัฒนธรรม” ของคนตำบลริมปิง พร้อมกันนั้น ได้มีการประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตำบลนมแม่ตามแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการในระยะเวลา 3 เดือน

 

นายธวัชชัย กันทะวันนา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลริมปิง กล่าวว่า แผนปฏิบัติการตำบลนมแม่ เริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูลด้านอนามัยแม่และเด็ก พร้อมกับการพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่บุคลากรและแกนนำ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เทศบาลตำบลริมปิง และคณะทำงานตำบลนมแม่ฯ เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ความรู้แก่คนในชุมชน พร้อมกับดำเนินการเพื่อให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปปฏิบัติได้จริง โดยการจัดทีมสหวิชาชีพเยี่ยมบ้านเพื่อรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว ก่อนจะเสริมศักยภาพของชุมชนในการจัดการปัญหา จนนำไปสู่การพัฒนา “แม่ลูกต้นแบบ” และ “ครอบครัวต้นแบบ” เพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมถึงการจัดส่งอาสาสมัครออกให้คำแนะนำเจ้าของร้านขายของชำในพื้นที่จนเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดนมผง เพื่อเฝ้าระวังการละเมิดหลักเกณฑ์การตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทารกทดแทนนมแม่ หรือ CODE

 


“การที่ชุมชนให้ความสำคัญกับนมแม่เพราะค่าน้ำนมนม คือโอกาสของการสร้างคน ถ้าเราปูพื้นฐานที่ดี เราจะได้เยาวชนที่แข็งแรงทั้งทางสติปัญญาและจิตใจเพื่อพัฒนาชาติในอนาคต”

 

อย่างไรก็ตาม การจะก้าวขึ้นมาเป็นตำบลนมแม่ได้สำเร็จอย่างยั่งยืน นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากชุมชนองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานบริการสาธารณสุขและครอบครัวเพื่อเกิดกระบวนการเชื่อมโยงในทุกด้าน

 

แพทย์หญิงวรรณมณี มาธนะสารวุฒิ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลลำพูน กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2550 โรงพยาบาลลำพูน ได้เข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว มีการส่งเสริมการเลี้ยงด้วย นมแม่ตั้งแต่การระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยที่เชื่อมโยงกับการทำงานของภาคชุมชน

 

ในระยะตั้งครรภ์จะมีการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนม โครงการเตรียมคลอด อบรมหญิงตั้งครรภ์ สามี ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว ประชาสัมพันธ์ที่คลินิกเรื่องการเลี้ยงนมแม่ แม้แต่การเตรียมการเผชิญกับความเจ็บปวดจากการคลอด การปฐมนิเทศ กระทั่งสู่ระยะคลอดซึ่งเป็นช่วงสำคัญ โรงพยาบาลจะไม่มีนโยบายการแยกแม่ แยกลูก อย่างเด็ดขาด

 

“เราพบข้อดีหลายประการของการ ไม่แยกลูก แยกแม่ อย่างชัดเจนเลยว่าแม่ที่ได้โอบกอดลูกและให้นมลูกตั้งแต่แรกคลอดนั้นจะเกิดความรักความผูกพันกับลูกสูงมาก เห็นได้จากสัดส่วนการทิ้งลูกไว้ที่โรงพยาบาลลดลงจนเป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวล้วน 6 เดือน”

 

สำหรับระยะหลังคลอด เจ้าหน้าที่ รพ.จะออกเยี่ยมบ้าน เพื่อให้คำปรึกษาและร่วมหาทางแก้ไขต่างๆ ซึ่งในระยะหลังคลอดนี้จะดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตลอดจนปราชญ์นมแม่ซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จะเป็นแกนนำหลักในการทำงานเชื่อมระหว่าง โรงพยาบาล โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพสต.) และชุมชน นอกจากนี้โรงพยาบาลมีนโยบายเข้มงวด งดรับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของบริจาคจากบริษัทนมผงต่างๆ โดยสิ้นเชิง

 

ด้าน คุณสมศักดิ์ ดวงวรรณา ปราชญ์นมแม่ และ อสม. กล่าวว่า ปราชญ์นมแม่จะมีบทบาทหน้าที่กลไก 5 ขั้นตอนในการเสริมสร้างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคนริมปิง คือ เก็บข้อมูลเยี่ยมบ้าน ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและชักชวนแม่หลังคลอดให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เฝ้าระวัง ปกป้อง ส่งเสริมโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายเพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุน และมีจิตอาสาในการทำงาน

 

“อสม. ก็คืออาสามัครที่มีจิตอาสาในการทำงาน เป้าหมายของการรณรงค์นมแม่สำหรับผมก็คือ การสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กริมปิงสามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพเท่านั้นเอง”

 

จากกระบวนการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ภาคส่วน หรือ 3 เสา นี้เอง เป็นผลให้ตำบลริมปิงประสบความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 60 โดยตำบลริมปิงสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สูงถึงร้อยละ 81.25

 

ตำบลริมปิง จึงเป็นตำบลนมแม่ต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในการส่งเสริม สนับสนุน ปกป้องและคุ้มครองแม่และเด็กจากอิทธิพลของการกลยุทธ์การตลาดและการโฆษณาของบริษัทนมผงโดยแท้จริง

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
ตำบลนมแม่
นมแม่ดีที่หนึ่ง
ข่าวช่อง 3 family สัปดาห์นมแม่โลก 2557