เมื่อแม่เจ็บป่วย

ให้นมลูกอยู่ ใช้ยานี้ได้ไหม

22 มิถุนายน 2017
แชร์ให้เพื่อน

ให้นมลูกอยู่ ใช้ยานี้ได้ไหม

[seed_social]
[seed_social]

โดย พญ. ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร

ในกระดานสนทนามักมีคำถามเรื่องยาที่คุณแม่ได้รับมาจากแพทย์ และอยากรู้ว่าจะใช้ได้ไหม หลายครั้งก็เป็นเรื่องเร่งด่วน บางคนก็ยอมทนกับความเจ็บป่วยเพราะไม่กล้าใช้ยานั้น จนกว่าคุณหมอๆ ของเว็บไซต์จะเข้ามาตอบในกระดานสนทนา หมอจึงเขียนบทความนี้เพื่อให้คุณแม่ได้ใช้ในยามฉุกเฉิน

 

แต่ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ต่อไป ขอทำความเข้าใจกับทุกท่านดังนี้

 

1. บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้คุณแม่ที่ได้รับยาจากแพทย์ แล้วไม่แน่ใจว่าจะใช้ยานั้นๆ ได้หรือไม่ ได้ใช้เพื่อการตัดสินใจใช้ยาเท่านั้น

2. กรุณาอย่านำข้อมูลจากบทความนี้ไปซื้อยาใช้เอง ขอยืนยันว่าการใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

3. ข้อมูลในบทความนี้ได้สรุปจากเอกสารอ้างอิงด้านล่าง ซึ่งอาจไม่ตรงกับตำราหรือแหล่งอ้างอิงของท่านก็ได้

4. ข้อมูลเรื่องยาต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ทั้งนี้ขึ้นกับรายงานการติดตามการใช้ยานั้นๆ ในวงกว้าง รวมทั้งรายงานความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนต่างๆ ดังนั้นข้อมูลในบทความนี้อาจไม่ตรงได้ในอนาคตหากมีข้อมูลใหม่ๆ มาลบล้าง

5. ชื่อยาในบทความนี้จะใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์หรือชื่อทั่วไป ไม่ใช้ชื่อการค้า

6. ยาส่วนใหญ่จะผ่านออกมาในน้ำนมแม่ในปริมาณที่น้อยมาก คือน้อยกว่า 1% และน้อยกว่าระดับยาที่ใช้รักษาสำหรับทารก การใช้ยาในแม่จึงผลน้อยต่อทารก และมียาเพียงไม่กี่ชนิดที่ห้ามใช้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยาต่างๆ มักแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาในแม่ที่ให้นมลูก เนื่องจากเกรงมีปัญหาทางด้านกฎหมาย ไม่ใช่เพราะเกรงว่ายาจะออกมาในนมแม่ในระดับสูงจนอาจเป็นอันตราย

7. กรณีที่แม่ป่วย อ่อนเพลียหรือง่วงจากผลของยา ควรแยกที่นอนกับลูก เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการพลิกต้วไปทับลูกโดยไม่รู้ตัว และหากเป็นโรคติดเชื้อ ก็อาจแพร่เชื้อสู่ลูกได้

หลักการใช้ยา

1. หลีกเลี่ยงการใช้ยา ยกเว้นในกรณีจำเป็น

2. เลือกยาที่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในสำหรับแม่ที่ให้นมลูก

3. รูปแบบของยาที่อาจมีผลต่อการให้นม เรียงลำดับจากน้อยไปหามากคือ ยาทา ยาพ่น ยากิน ยาฉีด

4. สำหรับแม่ที่จำเป็นต้องใช้ยาที่ผ่านออกทางน้ำนมบ้าง เพื่อให้มีผลต่อลูกน้อยที่สุด มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

– ใช้วิธีลดปริมาณยาที่ลูกอาจได้รับผ่านนมแม่ลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้แม่รับยานั้นทันทีหลังจากให้นมเสร็จ หรือในช่วงเวลา 3 – 4 ชั่วโมงก่อนให้นมลูกมื้อต่อไป

– ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์ยาว ควรรับยานั้นในช่วงก่อนเวลาที่ลูกจะหลับยาว

– กรณีของยาที่อาจมีผลต่อทารก ถ้าต้องงดให้นมลูกชั่วคราว ให้บีบ/ปั๊มนมทิ้ง และป้อนนมผสมแก่ลูกจากถ้วย เพื่อป้องกันลูกติดจุกนม

– สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดกับลูก เช่นปัญหาด้านการดูดนม การหลับ ร้องกวน หรือมีผื่นผิวหนังเป็นต้น

 

กลุ่มยาต้านจุลชีพ ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (บางคนเรียกผิดเป็นยาแก้อักเสบ)

 

ยาต้านแบคทีเรียที่ใช้ได้: amoxicillin, ampicillin, cloxacillin, dicloxacillin, amoxicillin+clavulanic acid (amoxyclav), cephalexin, cefaclor, cefazolin,cefuroxime, ceftazidime, ceftriaxone, azithromycin, clarithromycin, erythromycin, gentamicin, clindamycin, norfloxacin, ofloxacin, levofloxacin, moxalactam, vancomycin

ยากลุ่มที่มีตัวยาซัลฟา (sulphonamides) รวมอยู่ด้วย ควรเลี่ยงในทารกป่วย, เกิดก่อนกำหนด, ตัวเหลือง, ทารกที่มีภาวะพร่อง G6PD

Metronidazole หากต้องใช้ยาขนาดสูงถึง 2 กรัม ใน 1 มื้อ ควรให้งดนมแม่ 12 – 24 ชม.

Ciprofloxacin หากใช้ ขอให้สังเกตอาการแทรกซ้อนในทารก เช่นอาการท้องเสีย

Tetracycline, doxycycline หากใช้นานเป็นเดือนๆ อาจมีผลต่อการเจริญของกระดูก และทำให้ฟันเหลือง

กลุ่มยาต้านวัณโรค : INH, rifampicin, ethambutol, pyrazinamide สามารถใช้ได้ เพียงแต่ต้องติดตามอาการตัวเหลืองในทารก ส่วนstreptomycin ให้ติดตามการเกิดเชื้อราในปากและอาการท้องเสีย

ยาต้านไวรัสที่ใช้ได้ : acyclovir, tamiflu

ยารักษาพยาธิที่ใช้ได้ : albendazole, levamisole, mebendazole, niclosamide, praziquantel, pyrantel

ยารักษาเชื้อราที่ใช้ได้ : ketoconazole,fluconazole, miconazole, nystatin, itraconazole, ยาเฉพาะที่ เช่น ketokonazole, miconazole, clotrimazole

 

กลุ่มยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ

Paracetamol เป็นยาที่ปลอดภัยที่สุด

Diclofenac, ibuprofen, mefenamic acid, celecoxib, piroxicam เป็นยาที่ใช้ได้

Aspirin ถ้าใช้ขนาดน้อยๆ เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวอาจจะปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในขนาดสูง

Naproxen ใช้ได้ในระยะสั้นๆ แต่เนื่องจากยาอยู่ในกระแสเลือดได้นาน จึงแนะนำให้กินยานี้ในช่วงที่ลูกจะหลับยาว ไม่ควรใช้เป็นเวลานานเพราะระดับยาอาจสะสมในเลือดของทารกได้

Norgesic ประกอบด้วย orphenadrine 35 mg และ paracetamol 450 mg ข้อมูลของ orphenadrine ยังมีน้อยในเรื่องปริมาณยาที่ออกมาในน้ำนม ถือว่าความปลอดภัยสำหรับการใช้ในแม่ที่ให้นมลูกอยู่ในระดับปานกลาง

Tolperisone ไม่มีข้อมูล

 

กลุ่มยาแก้หวัด ภูมิแพ้ ไอ ละลายเสมหะ ขยายหลอดลม

ยาที่ใช้ได้ : loratadine, diphenhydramine, chlorpheniramine, brompheniramine, promethazine , triprolidine,  cetrizine, ambroxol, bromhexine, dextromethorphan, theophylline,terbutaline, albuterol, acetylcysteine

Clemastine ให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกับทารก เช่น กระสับกระส่าย ง่วงซึม และคอแข็ง

Pseudoephedrine ใช้ได้ถ้าเป็นระยะสั้น ควรระมัดระวังถ้าใช้ระยะยาว เนื่องจากมีรายงานทารก 1 รายซึ่งมีอาการร้องกวน นอกจากนั้น ยานี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมน prolactin มีผลให้น้ำนมแม่น้อยลง

Codeine ใช้ได้ถ้าใช้ขนาดน้อยและไม่นาน ไม่ควรใช้เป็นเวลานาน ให้สังเกตอาการแทรกซ้อนในทารก ได้แก่อาการหยุดหายใจ หัวใจเต้นช้า และเขียว

Montelukast ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับระดับยาในนมแม่ แต่คาดว่าน่าจะค่อนข้างน้อย

ยาพ่น albuterol, vanceril, beclomethasone, fluticasone, cromolyn, nedocromil, ipratropium ใช้ได้

 

กลุ่มยารักษาไมเกรน

Sumatryptan , ดูดซึมในทางเดินอาหารได้น้อย eletriptan ออกมาในน้ำนมไม่มาก สามารถใช้ได้

Ergotamine เนื่องจากระดับยาในเนื้อเยื่อของร่างกายอยู่นาน และเคยมีรายงานทารกมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและถ่ายเหลว จึงแนะนำว่าหลีกเลี่ยงไว้จะดีกว่า และ ถ้าใช้ยานี้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน จะมีผลต่อฮอร์โมน prolactin ทำให้น้ำนมน้อยลงได้

Flunarizine ข้อมูลเกี่ยวกับระดับยานี้ในน้ำนมไม่ทราบแน่นอน แต่เนื่องจากยาอยู่ในกระแสเลือดได้นาน หากเลี่ยงได้ก็จะดี  ถ้าจะใช้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
จำเป็นต้องเสริมนมขวดด้วยไหม? ลูกจะติดจุกนมไหม?
คุมกำเนิดแบบไหน ให้นมแม่ได้
อาหารทารกตามวัย ลูกน้อยเติบใหญ่ แข็งแรง สมองดี