แม่อาสา

9 เดือนที่รอคอยของศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์

21 มิถุนายน 2017
แชร์ให้เพื่อน

9 เดือนที่รอคอยของศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์

[seed_social]
[seed_social]

 

นมแม่มาแล้วจ้า…น้ำนมของหนิงมาวันที่คลอดลูกเลย คือน้ำนมคอลอสตรุมที่ว่ามีประโยชน์ต่อลูกมาก หนิงไม่มีความกังวลเรื่องของน้ำนมเลยคะ เพียงแต่แอบสงสัยเล็กๆ ว่า ทำไมเพื่อนๆ ที่ผ่าคลอดส่วนใหญ่แล้ว ต้องรอ 2-3 วันน้ำนมถึงจะมา คิดแต่ว่าเรานั้นโชคดี แล้วก็จำได้ว่าช่วงท้อง…หนิงอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับนมแม่เยอะมาก ว่ากันว่าถ้าแม่คนไหนเครียด โดยเฉพาะหลังคลอดใหม่ๆ ทำใจได้เลยว่าน้ำนมมาน้อยแน่ ทางที่ดีจะต้องทำจิตใจให้สบาย ที่สำคัญช่วงเวลาของการให้น้ำนมแก่ลูกนั้น แม่ต้องมีความสุขที่จะให้ค่ะ เมื่อมีความสุข ฮอร์โมนจากสมองก็จะสั่งการให้น้ำนมยิ่งไหล หนิงจึงคิดอย่างเดียวเลยว่า ฉันมีน้ำนมให้ลูกแน่ๆ ไม่มีความวิตกกังวล และไม่เครียดด้วย

พอหลังจากพาลูกกลับบ้าน..น้ำนมยังคงมาเยอะ และจากที่ได้ยินบรรดาแม่ๆ เขาคุยกัน ยิ่งเยอะ ก็ควรจะปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูก…เผื่อว่าในอนาคตเราจะต้องออกบ้านไปทำธุระปะปังจะได้ไม่ต้องห่วง หนิงเริ่มปั๊มนมหลังกลับบ้านได้ 2-3 วัน พอลูกดูดเสร็จ ระหว่างที่เขาผลอยหลับก็ปั๊มเก็บอีก ว่าง่ายๆ ก็คือ น้ำนมระบายออกจากเต้าทุกชั่วโมง แรกๆ ก็สนุกดีคะ ยิ่งเก็บได้เยอะ ยิ่งภูมิใจ จากที่เก็บใส่ถ้วย ต้องปลี่ยนเป็นถุงเพราะมันเริ่มล้นตู้เย็น … แขกไปใครมา คุณแม่สามีต้องเปิดถุงนมโชว์เพราะภูมิใจแทน แต่หนิงประสบปัญหาอีกอย่างก็คือ ลูกไม่นอนกลางคืน แถมยังชอบร้องไห้ไม่หยุดช่วงกลางคืนอีกด้วย 2 อาทิตย์แรกหนิงเครียดมาก สงสัยว่าลูกเป็นอะไร หนิงและสามีแทบจะไม่ได้นอนกลางคืนเลย น้ำหนักลดฮวบ ซึมเศร้า คุณแม่สามีสงสารก็เลยพาลูกหนิงไปนอนที่ห้องของท่านหลังดูดนมเสร็จเพื่อให้หนิงและสามีได้นอนบ้าง 2 ชั่วโมงก็ยังดี ลืมบอกว่าหนิงฝึกลูกดูดขวดนมตั้งแต่อายุ 2 อาทิตย์ เพราะหนิงมีนัดกับหมอดูแผลผ่าเลยไม่อยากพาลูกไปด้วย กลายเป็นว่า เช้าวันไหนตื่นไม่ไหว หนิงจะขอให้คุณแม่สามีช่วยป้อนนมขวด ( ซึ่งขอบอกว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่แย่มาก จริงๆ แล้วไม่ควรฝึกลูกเร็วขนาดนี้ ถึงแม้ปัจจุบัน ลูกหนิงไม่ติดดูดขวด แต่คุณแม่ควรท่านอื่นๆ ไม่ควรเลียนแบบนะคะ) ผลก็คือหลับเป็นตาย ตื่นมาอีกที รีบกุลีกุจอปั๊มนม เพราะมันคัดจนทนไม่ไหว หลายวันที่แก้ปัญหาการนอนแบบนี้.. จนกระทั่งวันแห่งฝันร้ายมาถึง มันคัดจนเป็นไต ให้ลูกดูดก็ไม่หาย ปั๊มก็ไม่หาย ปวดทรมานจนแทบจะตัดนมทิ้ง ทันทีที่เล่าให้คุณพ่อคุณแม่สามีฟัง ท่านก็พาหนิงและลูกไปหาคุณอาของสามี (ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์) ซึ่งเป็นอาจารย์หมอกุมารแพทย์มือหนึ่งของ รพ.ศิริราช

 

คุณอาพาหนิงไปคลินิกนมแม่ของโรงพยาบาล เพื่อพบกับหัวหน้าพยาบาลคลินิกนมแม่ อาจารย์ธิดารัตน์ วงศ์วิสุทธ์ ว่ากันว่าอาจารย์ฝึกการให้น้ำนมแม่เก่งที่สุดในประเทศไทย หนิงบอกตำแหน่งที่คัด อาจารย์ก็บอกให้ลูกดูดนมท่าลูกบอล ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ…อาการคัดเริ่มคลาย..แม้ไม่หายขาดแต่ก็ดีขึ้นมาก แล้วก็สอนให้นมท่านอนด้วย เชื่อไหมคะว่า…ตั้งแต่กลับบ้าน หนิงให้นมลูกท่านั่งอย่างเดียว ทั้งๆ ที่พยาบาลก็สอนหนิงหมดทุกท่า เพียงแต่หนิงกลับคิดว่าหนิงถนัดท่านั่งมากสุด ถ้าหากหนิงให้ลูกดูดท่านอนก็คงจะนอนกลางคืนได้ดีตั้งแต่คืนแรกที่มาถึงบ้านแล้ว จึงอยากฝากว่า คุณแม่ควรฝึกการให้นมทุกท่า และสงสัยอะไรให้ถามพยาบาลให้หมดก่อนออกจากโรงพยาบาล ที่อาจารย์บอกว่าควรฝึกทุกท่าเพราะ ลิ้นลูกเป็นสิ่งสำคัญในการแก้น้ำนมคัด คัดตรงไหน ลิ้นลูกต้องอยู่ตำแหน่งนั้น ช่วงแรกหนิงคัดบริเวณ สามนาฬิกา ถ้าหันหน้าเข้าหาหน้าอกเต้าซ้ายของหนิง ฉะนั้นลูกต้องดูดในท่าบอลเต้าซ้ายนั่นเอง วันแรกที่หนิงไปพบอาจารย์ หนิงบังเกิดความรู้มากมาย อาทิ ควรถอดถุงมือลูกตอนให้นม เพราะเวลาลูกมีความสุข เขาจะจีบมือโอเค (ซึ่งลูกก็ทำอย่างนั้นจริงๆ ) หนิงยังได้ทราบอีกว่าท่านอนบางท่าก็สามารถทำให้หน้าอกคัดได้ อย่างเช่นการนอนตะแคงทับเต้าใดเต้าหนึ่ง หรือการใส่ชุดชั้นในที่คับเกินก็มีส่วนให้คัดได้ด้วย

 

อาจารย์บอกว่าไม่ควรปั๊มนมเยอะโดยเฉพาะช่วงหลังคลอด ร่างกายยังต้องปรับตัวตามความต้องการของลูก กล่าวคือ demand และ supply ต้องเท่ากัน แต่เต้าหนิงผลิตน้ำนมมากเกินความต้องการของลูกเพราะหนิงไปปั๊มนั่นเอง ช่วงนั้นเครียดมาก ถึงแม้อาจารย์บอกว่ามันจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่หนิงกลับทุกข์ใจ คิดแต่ว่าจะต้องปวดนมอย่างนี้ไปอีก 6-7 เดือนเชียวหรือ หลังจากนั้น หนิงยังไปที่คลินิกนมแม่เกือบทุกวัน อยู่กัน 5-6 ชั่วโมง และเห็นเลยว่ามีแม่อีกหลายคน ที่ประสบปัญหาเรื่องการให้นม ไม่ว่าจะน้ำนมน้อย เต้าเป็นเชื้อรา หัวนมบอด หัวนมเป็นแผล หรือลิ้นลูกมีปัญหา และเกิดความซึ้งใจกับทีมพยาบาลที่นี่ที่ให้ความช่วยเหลือทุกชีวิตอย่างดีเยี่ยม

 

 

หนิงประสบปัญหาอีกครั้ง คราวนี้คัดที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา แถมยังคัดวันศุกร์ ซึ่งคลินิกปิดเสาร์อาทิตย์ หนิงทรมานมาก ให้ลูกกินทุกท่า แต่จนใจไม่รู้จะให้ท่าไหนดีกับตำแหน่งที่คัดนี้ โทรหาอาหมอ ก็บอกว่าเป็นท่าตีลังกา อธิบายท่ามาครึ่งชั่วโมง หนิงบอกตามตรงว่าทำไม่เป็น หนิงทั้งประคบน้ำอุ่น ทั้งนวด ทั้งบีบจนเป็นแผลถลอกไปหมด จำได้เลยว่านั่งร้องให้ตอนสามีอุ้มลูกอยู่ มันสุดทนแล้วจริงๆ สามีก็สงสารเราเหลือเกิน วันจันทร์กลับไป รพ.ศิริราชอีกครั้ง ทีนี้ได้ให้ลูกดื่มท่าตีลังกาสมใจ ทำเองไม่เป็นหรอกคะ และอย่าได้ลอง เพราะต้องให้พยาบาลช่วยทำให้ กล่าวคือ หนิงนอนหงายราบบนเตียง ลูกนอนคว่ำหน้าดูดนมหนิง หัวอยู่ที่เต้า ขาพาดไปที่บ่าหนิง หลังจากทำท่านี้..ก็ดีขึ้นเยอะ หนิงยังไปคลินิกต่อเนื่อง จนตอนนี้หายขาด และมีความสุขกับการให้นมมากค่ะ ตอนนี้จะปั๊มก็ต่อเมื่อออกไปข้างนอกและไม่ได้ให้นมลูก และเวลาลูกหลับยาวจนนมคัด และอย่างที่อาจารย์บอก…ร่างกายของเราจะค่อยๆ ปรับตัว ตอนนี้หนิงอยู่ได้ยาวถึง 4 ชั่วโมงถึงจะคัดจนทนไม่ไหว.. ที่สำคัญหนิงละเลิกพฤติกรรมที่ฝากคุณเม่สามีป้อนนมขวดให้ลูกเพื่อให้ตัวเองได้หลับยาวขึ้นแล้วค่ะ หยุดตั้งแต่เกิดปัญหานมคัด เพราะตอนนี้หนิงสุขใจกับการให้นมลูกกว่าเดิม ยินดีที่จะตื่นทุก 3 – 4 ชั่วโมงเพื่อให้ลูกดูด แถมยังโดนเพื่อนๆ ขู่มาเยอะว่า เห็นน้ำนมเยอะอย่างนี้ก็เถอะ พอได้เริ่มออกทำงานเมื่อไหร่ หรือลูกดูดจากเต้าน้อยลงเท่าไหร่…น้ำนมก็จะลดลงเท่านั้น เอาละสิคะ..ตอนนี้ก็เลยเริ่มวิตกกลัวว่าน้ำนมจะหมด..หนิงเลยให้ลูกดูดจากเต้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางวันไปทำงานข้างนอก ก็รีบกลับมาให้นม เสร็จแล้วก็กลับไปทำอีกงานต่อ แล้วก็กลับมาใหม่ ยอมเสียค่าน้ำมันรถเพื่อลูกคะ

 

ท้ายสุดนี้อยากฝากถึงคุณแม่ทุกคนนะคะว่าอย่าไปวิตกกังวลเรื่องน้ำนมแม่มากจนเกินไป แล้วก็อย่าไปบ้าปั๊มนมซะจนเกิดปัญหาอย่างหนิงเชียวนะคะ ทางที่ดีที่สุด..ให้ลูกดูดจากเต้าให้เต็มที่ใน 3 เดือนแรก..แล้วค่อยปั๊มเก็บให้ลูก…เพื่อให้ร่างกายของคุณได้ปรับตัวตามความต้องการของลูกนะคะ อีกอย่างที่อยากฝากไว้ก็คือ การให้น้ำนมแม่เป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อน เมื่อมีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ อย่าไปคิดว่าแค่อ่านตำราหรือเสาะถามใครต่อใครจะสามารถแก้ได้นะคะ ยอมเสียเวลาซักเล็กน้อยไปโรงพยาบาลหรือคลินิกนมแม่เพื่อช่วยคุณดีที่สุด เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้ว หลายคนกลายเป็นคุณแม่ที่เกลียดหรือกลัวการให้นมลูกซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยคะ ส่วนคุณแม่คนไหนมีปัญหาน้ำนมน้อยจริงๆ ไม่สามารถให้ได้ถึง 6 เดือน ก็อย่าไปเสียใจ… เพียงแค่คุณมีความตั้งใจและพยายาม ก็ถือว่าคุณทำหน้าที่คุณแม่ได้ดีที่สุดแล้ว และหนิงเชื่อว่าลูกของคุณย่อมต้องเข้าใจ{mospagebreak} จาก………. Baby &Kid’s Digest กุมภาพันธ์ 2551

9 เดือนที่รอคอย…….ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์

Admin
มูลนิธิศูนย์นมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง
ชวนลูกเล่น พัฒนาสมองวัยเตาะแตะ
ชวนลูกเล่น พัฒนาสมองวัยเตาะแตะ
รับมือกับลูกแพ้อาหาร