Breastfeeding Benefit : Claim or Over Claim
Breastfeeding Benefit : Claim or Over Claim โดย พ.อ.หญิง ผศ. พญ. ปริศนา พานิชกุล วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฏเกล้า
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการคุมกำเนิด
การให้ลูกได้กินนมแม่จะช่วยในการคุมกำเนิด แต่จะใช้ได้ต้องมีเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ มารดาต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว มารดาต้องยังไม่มีประจำเดือน และจะใช้ได้ในช่วงหกเดือนแรกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับกระดูก
ช่วงที่มารดาให้นมลูก อาจพบว่ามารดามีมวลกระดูกลดลง แต่หลังจากที่มารดาหยุดให้นมแม่แล้ว มวลกระดูกของมารดาจะกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่เหมาะสมของมารดา ทั้งในช่วงที่มารดาให้นมบุตรและในช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรมีปริมาณแคลเซียมที่พอเพียง
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับมะเร็งเต้านม
การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมของมารดา และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของมารดา แม้ในกรณีที่มารดาเป็นมะเร็งเต้านม
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการพัฒนาสมองของมารดา
การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองของแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในช่วง peripartum period พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองของแม่ในบางส่วนที่พิเศษที่อาจเรียกว่าเป็น “วงจรไฟฟ้าของการเป็นแม่ (maternal circuitry)” ที่มีความจำเป็นต่อการเริ่มต้น ต่อการคงไว้ และการควบคุมพฤติกรรมของการเป็นแม่ เช่น การสร้างรัง การปกป้องลูก เป็นต้น
นอกจากนี้ บางส่วนควบคุมความจำ การเรียนรู้ และการตอบสนองต่อความกลัวและความเครียด1 โดยส่วนหนึ่งของ maternal circuitry นี้ คือ ระบบที่เกี่ยวกับแรงจูงใจของแม่ (maternal motivational system) ที่พบในการศึกษาในหนูทดลองของ Numan M. 2 ที่พบส่วนของสมองที่เรียกว่า medial preoptic area (MPOA) ที่เป็นส่วนวิกฤติที่จะเป็นส่วนที่รวมสัญญานจากฮอร์โมนต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและการรับรู้ความรู้สึกที่เข้ามาในแม่นำไปสู่ maternal circuitry และยังมีส่วนของสมองที่เรียกว่า nucleus supraopticus (SON) ที่มีบทบาทสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองของแม่พบว่าขนาดของสมองส่วน pituitary จะขยายใหญ่ขึ้นขณะตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยอาจเป็นผลจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ รวมถึงที่บริเวณ MPOA และ SON และส่วนอื่นๆ และยังพบมีการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ (neurogenesis) ในสมองของแม่
ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่เข้าใจชัดเจน แต่คาดว่าเซลล์ประสาทใหม่เหล่านี้ทำงานประสานกับวงจรไฟฟ้าของการเป็นแม่เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว และน่าจะช่วยส่งเสริมความอ่อนตัวและการตอบสนองของแม่ต่อสิ่งกระตุ้นที่เฉพาะเจาะจงในสภาวะแวดล้อมใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการอย่างมากในช่วงเวลาที่สำคัญนี้
สรุปโดย รศ. นพ. ภาวิน พัวพรพงษ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ