ปัญหาติดจุก (NIPPLE CONFUSION)
ปัญหาการดูดนมของลูก
10 กันยายน 2017
2496
การที่ลูกปฏิเสธนมแม่ แต่ยอมกินจากขวดผ่านจุกนมยาง คืออาการสับสนระหว่างจุกนมแม่และจุกนมปลอม (NIPPLE CONFUSION) ซึ่งปัญหานี้นี่เองที่สาเหตุหลักที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าตนเองไม่มีน้ำนม หันไปชงนมผงใส่ขวดให้ลูกดูดกิน ทั้งที่เต้านมอาจคัดแข็งและเต็มไปด้วยน้ำนมก็ตาม
ปัญหานี้เกิดจากความเข้าใจผิดๆ ว่า การกินนมจากเต้าแม่ก็เหมือนกับการกินนมจากขวด ทารกที่กินนมจากขวดตั้งแต่อายุน้อยมากๆ จะมีปัญหาในการดูดนมแม่ เพราะนมแม่และขวดวิธีดูดที่แตกต่างกัน
การดูดนมแม่
ลูกต้องใช้ลิ้นและขยับกรามล่างเพื่อ “รีด” น้ำนมออกจากกระเปาะน้ำนม
เมื่อลูกกินนมแม่ ลูกต้องอ้าปากกว้างและอมหัวนมแม่ไปถึงลานนม หัวนมแม่จะยืดไปถึงด้านในปากของลูก
ลิ้นของลูกจะห่อลานนมที่ยืดและกดให้แนบไปกับเพดานปาก
เมื่อลูกขยับลิ้นและกราม น้ำนมจะถูกรีดออกมาตามจังหวะที่ลูกขยับกราม
หากลูกดูดตามวิธีดังกล่าว หัวนมจะอยู่ด้านในสุดของช่องปาก ทำให้แม่ไม่รู้สึกเจ็บหัวนม
การดูดนมขวด (จุกนมยาง)
น้ำนมจะไหลผ่านรูที่จุกนมยาง โดยอาศัยแรงโน้มถ่วง ดังนั้นลูกไม่ต้องออกแรงในการกินนม
ลูกไม่ต้องอ้าปากกว้าง แต่จะห่อริมฝีปากให้เล็กและแน่น
จุกนมยางไม่ยืดถึงส่วนในสุดของช่องปาก ลูกไม่ต้องใช้ลิ้นรีดเพื่อเอาน้ำนมออกจากจุกนมยาง
ลูกจะดูดแผ่วๆ และงับกัดจุกนมยางเพื่อให้น้ำนมไหลออกจากขวด
เมื่อน้ำนมไหลเร็วเกินไป ลูกจะใช้ลิ้นดุนขึ้นเพื่อชะลอการไหลของนม
น้ำนมไหลไม่หยุดและเอ่อล้นอยู่ในปาก ไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ดูดก็ตาม
เมื่อลูกเคยชินกับการกินนมจากขวด ซึ่งง่ายกว่าการกินนมแม่ จะทำให้ลูกปฏิเสธเต้าแม่ และถึงแม้ว่าลูกจะยอมกินนมแม่ก็ตาม ลูกจะกัดนมแม่ ด้วยเหตุที่เคยชินกับการกัดงับให้น้ำนมไหลเข้าปากนั่นเอง
อาการติดจุก สังเกตุได้ดังนี้
ทารกที่กินนมขวดตั้งแต่แรกเกิดจะเอาลิ้นดุนนมแม่ออกจากปาก
ทารกไม่อ้าปากกว้า และจะดูด/งับที่หัวนมแม่ (ไม่อมถึงลานนม) แม่จะเจ็บหัวนมและลูกจะไม่ได้รับน้ำนมมากพอเพราะกลไกดูดที่ผิดนี้ไม่สามารถรีดน้ำนมออกจากเต้าแม่ได้
ทารกที่กินจากจุกนมยางจะเคยชินกับน้ำนมที่ไหลออกทันทีที่มีจุกนมเข้าปาก จะไม่รอจนน้ำนมพุ่ง (Milk Ejection Reflex หรือความรู้สึกจี๊ดที่เต้า) ที่จะเกิดขึ้นประมาณ 1-2 นาทีหลังจากเริ่มดูด
หลายคนอาจด่วนสรุปว่าให้กินจากขวดไปเลย เพราะง่ายกว่า แต่มีการศึกษาเปรียบเทียบแล้วว่าทารกที่กินนมแม่จะมีความเครียดน้อยกกว่าทารกที่กินนมขวด เพราะ
การหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอกว่า
ทารกสามารถควบคุมปริมาณการไหลของน้ำนมแม่ได้ ตามจังหวะ ดูด กลืน หยุด
การกินนมจากเต้าเป็นธรรมชาติกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า
วิธีป้องกันปัญหาติดจุก
เพราะทารกต้องฝึกฝนทักษะการดูดกินนมจากเต้าแม่ในช่วง 1 เดือนแรก จึงไม่ควรให้ทารกกินนมจากจุกนมยางในช่วงอายุน้อยกว่า 1-2 เดือน (รวมถึงจุกนมหลอก หรือ pacifier ด้วย)
แม่หลายคนที่ต้องกลับไปทำงานอาจกังวลเรื่องลูกติดเต้า ไม่ยอมกินนมจากขวดระหว่างแม่ไปทำงาน จึงต้องการฝึกให้ลูกยอมรับขวดตั้งแต่วัยเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่วิธีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาติดจุกได้ เพราะเมื่อลูกติดจุกและไม่ยอมดูดจากเต้า ปัญหาอื่นๆ อาจจะหนักกว่ากับการอดทนฝึกให้ลูกกินจากขวดหรือวิธีอื่นๆ (แก้ว/ ช้อน/ หลอด) ตอนลูกอายุ 2-3 เดือน
วิธีแก้อาการติดจุก ทำอย่างไรให้หายสับสน
งดขวด จุกนมยาง จุกนมหลอก (ต้องใจแข็งค่ะ)
ป้อนนมลูกด้วยวิธีอื่น (แก้ว/ ช้อน/ หลอด)
อุ้มลูกบ่อยๆ ให้ลูกเคยชินกับไออุ่นจากอกแม่
ให้ลูกกินนมจากอกเมื่อลูกอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด อย่ารอให้ลูกหิวจัด
เช็คดูว่าลูกกินนมถูกวิธีหรือไม่ อ้าปากกว้างก่อนงับ และอมถึงลานนมหรือไม่
ปั๊มนมหรือกระตุ้นให้น้ำนมพุ่งก่อนให้ลูกดูด ทารกที่ติดจุกจะพอใจเมื่อดูดปุ๊บ น้ำนมไหลปั๊บ จะยอมรับเต้านมแม่ง่ายขึ้น
ใช้ดรอปเปอร์หรือไซริงค์หยอดน้ำนมที่มุมปากของลูกทันทีเมื่อลูกเข้าเต้า ก่อนที่ลูกจะหงุดหงิดไม่ยอมรับเต้าแม่
ปรึกษาคลินิคนมแม่ หรือแม่อาสา
ทารกที่ติดจุกจะทำหน้างงงวยเมื่อต้องกินนมแม่แทนนมขวด ปัญหานี้แก้ไม่ยากถ้าแม่เข้มแข็งและแน่วแน่และแม่จะต้องอดทนกับเสียงร้องของลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น อย่าลืมให้กำลังใจกับลูกเมื่อลูกยอมดูด แม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ก็ตาม
อย่าลืมว่าการป้องกันปัญหาติดจุกง่ายกว่าการแก้นะคะ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคืออย่าเริ่มให้ลูกกินนมจากขวดเร็วเกินไป ให้ใช้แก้ว ช้อน หรือหลอดป้อน จะสามารถป้องกันมิให้ลูกเกิดความสับสนระหว่างนมแม่และจุกนมยางได้ค่ะ
แชร์ให้เพื่อน
SHARE
ปัญหาติดจุก (NIPPLE CONFUSION)
[seed_social]
[seed_social]