เริ่มดื่มนมกล่อง UHT เมื่ออายุเท่าไร
10 กันยายน 2017
โดย - บี มามี๊ต่าต๋า
หลังจาก 1 ขวบเป็นต้นไป แต่ถ้ายังได้นมแม่อยู่ ก็ยังไม่จำเป็น
เมื่อลูกอายุครบขวบ จะต้องการข้าวและอาหาร 5 หมู่เป็นอาหารหลัก นมจะเป็นเพียงอาหารเสริม ถ้าลูกยังได้นมแม่อยู่ ก็ยังไม่ต้องเสริมนมชนิดอื่น แต่ถ้านมแม่เหลือน้อย หรือคุณแม่ต้องการหย่านม ก็ให้เสริมด้วยนมกล่อง UHT ได้ ในวัยนี้ ร่างกายของลูกได้พัฒนาขึ้นที่จะรับสารอาหารได้หลากหลายมากขึ้น และส่วนมากพร้อมที่จะได้รับโปรตีนหลากหลายประเภทมากขึ้น รวมถึงโปรตีนนมวัว ถั่ว อาหารทะเล ฯลฯ
ดังนั้นอายุ 1 ขวบจะเป็นช่วงที่คุณแม่สามารถเริ่มให้ลูกทานนมสด UHT ได้ แต่อาจจะให้ในปริมาณแต่น้อยในแรกเริ่ม เพื่อสังเกตดูว่าลูกยังแพ้อยู่หรือไม่
ขอจำแนกประเภทนมต่างๆ ที่น้องสามารถทานได้หลังจาก 1 ขวบ
1. Whole milk คือ นมสด ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปหรือแต่งเติม เพียงแต่ผ่านกระบวนการทำลายเชื้อ มีแบบUHT เป็นกล่องเดี่ยว หรือแพค 4 - 6 กล่อง วางขายตามร้านค้าทั่วไป แนะนำให้ใช้นมกล่อง UHT ชนิดที่เป็นนมสดได้ (อ่านดูข้างกล่องว่าเป็นนมสด เพราะบางยี่ห้อเอานมผงจากต่างประเทศมาละลายน้ำใส่กล่องอีกที่) ยี่ห้อที่ใช้นมสด เช่น นมสดจิตรลดา หนองโพ ไทยเดนมาร์ค เป็นต้น ให้น้องทานชนิดรสจืด
2. Soy Milk หรือนมถั่วเหลือง UHT เป็นนมถั่วเหลืองที่ผ่านการทำลายเชื้อ บรรจุเป็นกล่อง มีการเพิ่มสารอาหารต่างๆ ด้วยงาดำหรืออื่นๆ ซึ่งคุณแม่ควรเลือกประเภทที่หวานน้อย เพื่อจะได้ไม่ติดรสหวานค่ะ ยี่ห้อของสินค้าในตลาดมีหลากหลายค่ะ
3. Formula คือนมผสมที่ผ่านกระบวนการแปรรูป มีการแต่งเติมเพิ่มสารอาหารต่างๆ เพื่อทดแทนคุณค่าที่เสียไป มีนมหลายยี่ห้อที่นำนมผงมาผสมน้ำแล้วบรรจุใส่กล่อง มักจะใช้คำว่า 1+ หรือ 3+ บนบรรจุภัณฑ์ ราคามักแพงกว่านมสดUHT
แชร์ให้เพื่อน
SHARE
เริ่มดื่มนมกล่อง UHT เมื่ออายุเท่าไร
[seed_social]
[seed_social]
คิดจะหย่านมลูก ทำอย่างไรจึงจะกระทบกระเทือนใจลูกน้อยที่สุด
10 กันยายน 2017
การหย่านมแม่
ควรทำเมื่อทั้งแม่และลูกพร้อม ควรมีการวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้น มิฉะนั้นอาจมีผลกระทบต่อจิตใจทั้งแม่และลูก
ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องเลิก ก็ควรให้นมไปเรื่อยๆ จนหลัง 2 ปีขึ้นไป เมื่อลูกโตขึ้น กินอาหารอื่นมากขึ้น ดูดนมแม่น้อยลง น้ำนมก็จะค่อยๆ ลดไปเองโดยปริยาย เป็นการหย่านมแบบค่อยเป็นค่อยไป
หลังหย่านมแม่ ถ้าลูกอายุเกิน 1 ปี ลูกกินนมกล่องได้ ควรหัดให้ดื่มจากแก้ว หรือใช้หลอดดูด โดยไม่ต้องใช้ขวดนม
การหย่านมควรทำเมื่อทั้งแม่และลูกพร้อม ไม่ควรหย่านมตามความเห็นหรือความต้องการของคนรอบข้าง ถ้าหย่านมเร็วเกินไปจะมีผลกระทบต่อจิตใจของแม่และลูก ทำให้ซึมเศร้า และรู้สึกสูญเสียได้ ถ้าลูกยังปรับตัวไม่ได้ อาจแสดงปฏิกิริยาโดยการร้องและขอดูดนมแม่บ่อยขึ้น หรือในทางกลับกัน ลูกอาจเครียด ไม่ยอมกินอาหารอื่นเลย และแม่เองก็จะมีปัญหาเต้านมคัดตึง เต้านมอักเสบหรือเป็นฝีได้
การวางแผนหย่านมอย่างเป็นลำดับขั้นอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเริ่มลดนมแม่วันละ 1มื้อ ทีละสัปดาห์ ( ถ้าหากต้องการหย่านมภายในเวลา 2 สัปดาห์ ก็ให้ร่นช่วงเวลาของการลดมื้อนมจากทุกสัปดาห์เป็นทุก 3 วัน ) ควรลดมื้อกลางวันก่อนมื้อกลางคืน และเว้นระยะระหว่างมื้อนมให้นานขึ้น โดยเริ่มลดมื้อ 14:00 น.ก่อน อีกสัปดาห์จึงลดมื้อ 10:00 น.-->มื้อ 18:00 น --> มื้อ 6:00 น. --> มื้อ 22:00 น.
นอกจากนั้น มีวิธีการอื่นที่ช่วยเสริมให้หย่านมได้ง่ายขึ้น คือ
ให้นมลูกเฉพาะมื้อที่ลูกขอ จะไม่ให้เมื่อไม่ขอ และให้นมแม่ในระยะเวลาสั้น ๆ
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้ลูกอยากดูดนมแม่บ่อย เช่น การนั่งเก้าอี้ที่ชอบในขณะให้นมลูก
ให้คุณพ่อหรือคนเลี้ยงช่วยให้นมหรืออาหารอื่นแทน
เบี่ยงเบนความสนใจของลูกจากการดูดนมแม่ เช่น พาไปในที่ๆ ลูกชอบ ชักชวนให้สนใจสิ่งแวดล้อม การเล่นกับเพื่อน เล่านิทาน เป็นต้น
ให้ความรักความใกล้ชิดกับลูกในรูปแบบอื่นทดแทนการให้นม เช่น เล่นด้วยกัน กอด หรือให้ซุกอกแม่ในขณะให้ดูดนมจากหลอด การกล่อมหรือเล่านิทานเวลาจะนอนจะช่วยลดการดูดนมกลางคืนได้
แชร์ให้เพื่อน
SHARE
คิดจะหย่านมลูก ทำอย่างไรจึงจะกระทบกระเทือนใจลูกน้อยที่สุด
[seed_social]
[seed_social]