นมแม่สัญจร “Breaking the Barriers”
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์กร Alive and Thrive ซึ่งเป็นองค์กรที่มีพันธกิจ ให้ความสำคัญกับการดูแลแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก โดยเน้นการให้เด็กทั้งโลกได้กินนมแม่ และได้รับอาหารตามวัยอย่างถูกต้อง และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการนมแม่สัญจร Breaking the Barriers การเยี่ยมชมเครือข่ายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในจังหวัด ระยอง และจันทบุรี วันที่ 1-2 มิถุนายน 2560 เพื่อให้เห็นการปฏิบัติจริง และปัญหาที่ต้องการแก้ไขในการส่งเสริม สนับสนุนและปกป้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในพื้นที่ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ – ชุมชน – บ้าน – สถานประกอบการ พร้อมชูประเด็น “Breaking the Barriers” อุปสรรคทำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ ที่ต้องเน้นระยะการให้นมลูกให้สำเร็จตั้งแต่แม่อยู่โรงพยาบาลและเมื่อกลับบ้าน 2 สัปดาห์แรก ภายใต้ความคุ้มครองจาก พระราชบัญญัติ ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (พรบ. นมผง) ห้ามการแจกนมผง โฆษณาเกินจริงที่ทำให้แม่และครอบครัวสับสนจนตัดสินใจผิดว่านมผงสามารถทดแทนนมแม่
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรีเป็น “ต้นแบบ” ของการส่งเสริม สนับสนุนและปกป้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เริ่มจาก ต้นทางที่ดูแลแม่ตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า – เทศบาลจังหวัดจันทบุรี ที่มีกลไกการดูแลแม่หลังคลอดและออกเยี่ยมติดตามอย่างเป็นระบบ – โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะขวาง อ. เมือง จ. จันทบุรี ที่มีการบูรณาการเรื่องนมแม่ กับ องค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพ จนเป็นตำบลที่มีการส่งเสริมสุขภาพเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปลอดนมผง – โรงแรมเคพี แกรนด์ ที่ได้ก่อตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ และมีกลุ่มแม่อาสาที่ส่งเสริมให้พนักงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจน โรงพยาบาลระยอง ที่มีระบบการดูแลรักษาเด็กที่คลอดก่อนกำหนด (Preterm) ทารกได้รับนมแม่เป็นอาหารและมีอาการที่ดีจนมีน้ำหนักตัวปกติและกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
“ในขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติ ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (พรบ. นมผง) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ถ้ามีการประกาศใช้จะช่วยให้ลดปัญหา การประชาสัมพันธ์เกินจริง ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของแม่ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลรายงานสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย (MICS 6th by UNICEF – พ.ศ. 2558 – 2559) พบว่า แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนถึง 6 เดือน มีอัตราร้อยละ 23 แม่ที่สามารถให้นมแม่ได้ถึง 1 ปี มีอัตราร้อยละ 24 แม่ที่สามารถให้นมแม่ได้ถึง 2 ปี มีอัตราร้อยละ 13 ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ คือ การเริ่มต้นในโรงพยาบาล และ ระยะ 2 สัปดาห์แรก หลังจากที่แม่ออกจากโรงพยาบาลและกลับมาอยู่ที่บ้าน และอยู่ในชุมชน” แพทย์หญิงศิริพร กล่าว
ศาสตราจารย์ คลินิก แพทย์หญิง ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างถูกต้องเป็นฐานการเริ่มต้นที่ดี ของการพัฒนาทักษะการคิดเพื่อชีวิตสำเร็จ (Executive Function Development) เนื่องจากข้อดีของขบวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และคุณค่าสารอาหารในนมแม่ “สารอาหารในนมแม่ เป็นสารอาหารที่เหมาะกับ โครงสร้างเนื้อสมอง บวกกับการได้รับการกระตุ้นจากขบวนการเลี้ยงดู ทำให้มีการตอกย้ำ วงจรการเรียนรู้ในสมองเด็ก การมีแม่อยู่ใกล้ๆ มีแม่ที่เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก แม่ที่มีเทคนิคการเลี้ยงดูที่ดี ทารกสามารถตอบสนองความต้องการได้ไว มีการศึกษาแสดงว่า เมื่อแม่ได้ยินเสียงร้อง จะมีการทำงานเพิ่มจุดในสมองแม่มาก ทำให้เกิดความเข้าใจและตอบสนองลูกได้ไวขึ้น สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้เด็กมีฐาน ความมั่นคงในจิตใจ ในการจะก้าวต่อไป สู่การพัฒนา EF ในระดับสูงขึ้นไป”
นายแพทย์พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า เปิดเผยถึง กระบวนการดูแลหญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอดที่ออกจากโรงพยาบาลพระปกเกล้า จะได้รับการส่งต่อให้กับ “ชมรมนมแม่” ทั้ง 15 ชมรม ในจังหวัดจันทบุรี ที่มีบทบาทสำคัญแก้ไขปัญหานมแม่ ประกอบด้วย พยาบาลอาสา อสม. นมแม่ ครอบครัวที่ได้รับการส่งเสริมจากคลินิคนมแม่ ซึ่งหากชมรมนมแม่แก้ไขปัญญาเบื้องต้นให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ จะรายงานและขอความช่วยเหลือจากคลินิคนมแม่ โรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งเป้าหมาย ร่วมกับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี และ เทศบาลจังหวัดจันทบุรี ในการขยายเครือข่ายชมรมนมแม่ให้กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้น
นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง กล่าวถึง ความสำเร็จในการดูแลรักษาทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งทารกมักต้องแยกจากแม่ ด้วยการเริ่มให้แม่บีบเก็บน้ำนมทันที่หลังเกิด และนำน้ำนมแม้จะน้อยนิดไปให้ทารกภายใน 24 ชั่วโมงแรก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวตั้งแต่ 800 กรัม จะได้รับการดูแลให้นมแม่ จนกระทั่งน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 กรัม จึงจะให้กลับบ้าน
“การให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกัน “เนื้อแนบเนื้อ” ในช่วงหลังคลอด แม่จะมีความสุข ทำให้ฮอร์โมนน้ำนมหลั่ง นี่เป็นผลจากการ ไม่แยกแม่แยกลูกในช่วงหลังคลอด ซึ่งการดูแลทารกป่วยคลอดก่อนกำหนด ทารกจะได้เริ่มได้รับรับนมแม่ด้วยการทำ “Oral Care” คือ การใช้ไม้พันสำลีจุ่มลงไปในน้ำนมแม่ เช็ดในช่องปากให้ทารกได้สัมผัสกับน้ำนม ซึมซับสารอาหารและภูมิคุ้มกันผ่านเยื่อบุช่องปาก ช่วงแรกๆ ทารกอาจไม่คุ้นชิน แต่เมื่อทารกได้สัมผัสกับรสชาติของน้ำนมแม่จะรู้สึกชอบ บางรายจับมือพยาบาลไม่ให้เอาไม้พันสำลีออกจากปากเลย การทำ Oral Care ควรทำวันละ 8 ครั้ง เพราะในน้ำนมแม่ในช่วง 1-2 วันแรกจะเป็นหัวน้ำนม (Colostrum) ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีเซลล์ภูมิคุ้มกัน เช่น เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับทารกอยู่เป็นจำนวนมาก